xs
xsm
sm
md
lg

ลุยตรวจต่อเนื่องล้งทุเรียนเมืองจันท์ สกัดขบวนการลอบตัดทุเรียนอ่อนขายหลังราคารับซื้อสูง 250 ต่อ กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - สวพ.เขต 6 นำทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ลุยตรวจต่อเนื่องล้งทุเรียนเมืองจันทบุรี สกัดกั้นขบวนการลอบตัดทุเรียนอ่อนออกขาย ชี้แรงจูงใจจากราคารับซื้อที่พุ่งสูงถึง 220-250 บาทต่อ กก.

จากกรณีที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 (สวพ.6) ได้นำเจ้าหน้าหลายฝ่ายใน จ.จันทบุรี สนธิกำลังเข้าบุกยึดทุเรียนอ่อนกว่า 2 ตัน ในล้งรับซื้อผลไม้ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.ท่าใหม่ และยังพบว่าเจ้าของล้งคือนักลงทุนชาวจีนที่กำลังเตรียมส่งทุเรียนอ่อนขึ้นเครื่องไปขายยังต่างประเทศ และก่อนหน้านี้ ได้มีการส่งทุเรียนอ่อนออกขายไปแล้ว 1 ล็อต

ถือเป็นการสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงได้มีการดำเนินคดีทั้งเจ้าของล้ง เจ้าของสวนทุเรียน และคนตัด ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้ราคาทุเรียนของไทยตกต่ำนั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงกลางดึกคืนวานนี้ (13 มี.ค.) นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้นำทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย (สวพ.6) ระดมสุ่มตรวจล้งรับซื้อทุเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองจันทบุรี 1 แห่ง และ อ.ท่าใหม่ 2 แห่ง


เบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีการส่งออกทุเรียน (อ่อน) ด้อยคุณภาพไปยังประเทศจีน และยังพบว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ติดป้ายขอความร่วมมือให้เจ้าของทุเรียนตัดเฉพาะทุเรียนแก่ส่งขายเท่านั้น ที่สำคัญผู้ประกอบการยังเห็นพ้องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อเอาผิดผู้ส่งออกทุเรียนอ่อนไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ พบว่าขบวนการส่งออกทุเรียนอ่อนออกขายจะใช้วิธีการส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนด้วยการขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้รับซื้อจากประเทศจีนจะออกค่าใช้จ่ายให้ล้งผลไม้

ขณะที่บางรายจะใช้เส้นทางการขนส่งทุเรียนอ่อนไปทางด่านชายแดนเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเข้าสู่ประเทศลาวก่อนขนถ่ายต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งขณะนี้จีนเริ่มเปิดด่านชายแดนจึงทำให้ไม่มีตู้สินค้าตกค้างนานนัก จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้ขบวนการขนทุเรียนอ่อนส่งขายสามารถทำได้ง่ายขึ้น


นายนิรุจ คลองยุต ผู้ประกอบการล้งผลไม้ใน จ.จันทบุรี เผยว่า ขบวนการส่งขายทุเรียนอ่อนได้สร้างความเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแบบถูกต้องของไทย ซึ่งพฤติกรรมการตัดทุเรียนอ่อนออกขายถือเป็นความตั้งใจของทั้งเจ้าของสวนและคนตัด ส่วนผู้ประกอบการล้งถือเป็นปลายทาง

และยังบอกอีกว่า ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแบบถูกต้องจะมีวิธีการตรวจสอบอายุทุเรียนด้วยการนับวันผลผลิตก่อนตัดตั้งแต่อยู่ภายในสวน และยังได้มีการตรวจเช็กเนื้อทุเรียนก่อนตัดด้วยการถอดหัวดอกทุเรียนตรวจสอบ และเจาะไล่หนาม ที่สำคัญชาวสวนจะต้องแขวนป้ายบอกรุ่นก่อนตัดอย่างชัดเจน

โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นแก่ได้บางรายเลือกตัดทุเรียนอ่อนออกขายเพราะราคาในตลาดพบว่า ขณะนี้ทุเรียนพันธุ์กระดุม ที่ซื้อขายกันผ่านโลกออนไลน์มีราคาสูงถึง 220-230 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนหมอนทองซื้อขายกันที่ 250-255 บาทต่อกิโลกรัม

“ขอฝากถึงสายตัดทุเรียนส่งขายว่าให้เลือกทุเรียนที่แก่จริง และอย่ารีบตัดเพราะหากรีบตัดออกมานอกจากจะสร้างความเสียหายให้ประเทศแล้ว ยังไม่สามารถส่งออกได้อยู่ดีและหากถูกจับจะถูกดำเนินคดีด้วย ส่วนผู้ประกอบการล้งคือปลายทาง เพราะหากคนตัดไม่ตัดทุเรียนอ่อนออกมาล้งจะไม่สามารรับซื้อได้ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการล้งเองต้องตรวจสอบให้ละเอียด ด้วยการเจาะเนื้อทุเรียนก่อนรับซื้อเช่นกัน” ผู้ประกอบการล้ง กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น