xs
xsm
sm
md
lg

จีนใช้ "ซีโร่โควิด" คุมผู้ส่งออกไทย เส้น R12 ผลไม้เน่าเละ ส่งออกเจ๊งยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงก่อนที่เกิดปัญหาโควิด-19 ผ่านมา ผลไม้จากไทยส่งออกสู่แดนมังกรต้องยอมรับว่าพ่อค้าผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะทุเรียน ที่เรียกได้ว่ามีความต้องการสูงในประเทศจีน ทำให้ผู้ส่งออกผลไม้ไทยนิยมใช้เส้นทางการขนส่งทางบก และมีความสะดวกรวดเร็ว และประหยัด ที่พ่อค้าส่งออกผลไม้ไทยคุ้นเคย “เส้นทาง R12” ด่านท่าแขก (สปป.ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ (เวียดนาม)-ด่านหูหงิ-ด่านโหยวอี้กว่าน (จีน) อีกหนึ่งเส้นทางยอดฮิตส่งสินค้า-ผลไม้ไทยไปจีนที่มีระยะทางสั้น-สะดวกสุดที่ใช้เชื่อมต่อจีนกับอาเซียน ทั้งนี้ ต้องย้อนหลังไปดูเส้นทางขนส่งผลไม้ไทยไปจีนทางบก (รถบรรทุก) สามารถขนส่งได้ใน 4 เส้นทางหลัก คือ R3a (เชียงของ), R9 (มุกดาหาร), R12 (นครพนม) และ R8 (บึงกาฬ, หนองคาย) ผ่านประเทศที่ 3 มุ่งหน้าสู่แดนมังกรผ่าน 4 ด่านฯ ที่ทางการจีนอนุญาต คือ ด่านโหยวอี้กว่าน ด่านโมฮาน ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง

สำหรับเส้นทาง R12 นั้นนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งจากไทยสู่จีนที่สั้นที่สุด และลดระยะทางในการขนส่งจากไทยไปจีนได้มาก จึงเป็นเส้นทางเชื่อมภาคอีสานของไทยกับนานาประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มต้นจากด่านนครพนม ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม และเข้าสู่ด่านในประเทศจีนถึง 2 ด่าน 2 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 1,499 กม. ทั้งนี้ สินค้าส่วนใหญ่ที่นิยมขนส่งผ่านเส้นทางนี้ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม และผลิตภัณฑ์จากนมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าการเกษตร และปิโตรเลียม

เส้นทาง R12 จากด่านนครพนมสู่เวียตนาม-จีน

สำหรับเส้นทาง R12 นั้นเชื่อมต่อผ่านจุดสำคัญของทั้ง 4 ประเทศ โดยแยกได้เป็น 2 เส้นทาง ดังนี้
เส้นทาง 1 ด่านนครพนม (ไทย)-ด่านท่าแขก (สปป.ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ (เวียดนาม)-ด่านหูหงิ-ด่านโหยวอี้กว่าน (จีน)
เส้นทาง 2  ด่านนครพนม (ไทย)-ด่านท่าแขก (สปป.ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ (เวียดนาม)-ด่านหม่องก๋าย-ด่านตงซิน (จีน)
โดยเส้นทางทั้ง 2 เส้นนี้สามารถเชื่อมต่อกันได้ที่ด่านโหยวอี้กว่าน และด่านตงซิน ประเทศจีน ระยะทางรวม 1,499 กม. ระยะทางจากด่านท่าแขก-ด่านน้ำพาว รวม 160 กม., ระยะทางจากด่านจาลอ-ด่านหูหงิรวม 622 กม., ระยะทางจากด่านจาลอ-ด่านหม่องก๋ายรวม 717 กม.
 
ถนนสายเศรษฐกิจสู่ฮานอยเชื่อมไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน
        
ถนนสายนี้มีความสำคัญในหลากหลายมิติเพราะมีจุดเชื่อมเส้นทางสำคัญอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง เช่น ทางหลวง AH1 ทางหลักมุ่งหน้าไปยังกรุงฮานอยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ของเวียดนามตอนกลาง และเส้นทางหลักมุ่งสู่ทั้งเวียดนามเหนือและใต้  จึงถือเป็นอีก “จุดยุทธศาสตร์” สำคัญกระจายสินค้าที่มีความหลากหลาย เชื่อมเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC ผ่าน 4 ประเทศ “ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน”

ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่าน 4 เส้นทางโดยเฉพาะราชาผลไม้ไทยอย่าง “ทุเรียน” ทั้งสดและแช่แข็งมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี เพราะคนจีนนิยมชมชอบการบริโภคทุเรียนไทยเป็นอันดับหนึ่งจากการนำเข้าทั้งหมด 78% โดยในปี 2020 มีมูลค่าส่งออกไปจีนถึง 53,459 ล้านบาท ทะยานโตถึง 52% ต่อปี โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการส่งออกไปจีนสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศแล้ว 25,086 ล้านบาท
 
ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนเกิดปัญหาโรคระบาดโควิด-19 พ่อค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะ “ทุเรียนไทย“ ก็ยังครองความเป็นราชาผลไม้ไทยและครองใจเบอร์หนึ่งคนจีน สร้างงานสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ เกษตรกรไทยก็หัวใจพองโต รวมทั้งส่งอานิสงส์ดีต่อผู้ประกอบการขนส่งสร้างรายได้เป็นห่วงโซ่การเติบโตด้วยเช่นกัน
               
โควิด-19 พ่นพิษผู้ส่งออกไทย-เวียดนาม
     
นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทางรัฐบาลจีน ซึ่งนับว่ามีลูกค้าที่นิยมบริโภคผลไม้ที่เรียกว่าราชาผลไม้ คือทุเรียน เป็นอันดับต้นๆ มากที่สุดของไทย ซึ่งทางการจีนได้ประกาศใช้มาตรการ "ซีโร่โควิด" และออกมาตรการเข้มโดยได้จำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้า ที่ผ่านมามีการรับสินค้าได้วันละไม่ถึง 100 ตู้  ซึ่งสัดส่วนของผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถส่งออกได้เพียง 20 ตู้/วันเท่านั้น ขณะที่สินค้าเวียดนามไม่เกิน 80 ตู้/วัน จึงทำให้ผู้ส่งผลไม้ทั้งไทยและเวียดนามเกิดปัญหาการส่งออกและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปัญหารถขนส่งผลไม้มีการตกค้างที่ชายแดนจีนเป็นจำนวนมากสุดในประวัติศาสตร์คือมากกว่า 4,000 คัน  
      
ล่าสุดทางเวียดนามได้พยายามเจรจากับทางจีนแล้วแต่เจ้าหน้าที่จีนยืนยันว่าการตรวจสอบสินค้าทุกชนิดเพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่จำเป็นที่สำคัญสำหรับการนำผลไม้เข้าประเทศจีนในตอนนี้
 
"สภาพรถติดตกค้างที่ชายแดนจีน ไม่ว่าจะเป็นด่านโหย่วอี้กวาน ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านตงซิง มีปริมาณตกค้างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทต่อผู้ประกอบการส่งออกขาดทุนจากสินค้าเสียหายเป็นอย่างมาก" พ่อค้าส่งออกผลไม้รายหนึ่งในจังหวัดนครพนมกล่าว
 
จีนออกคำสั่งเข้ม พ่อค้าส่งออกผลไม้ไทยขาดทุนยับ
     
นับตั้งแต่เกิดปัญหารถติดสะสมที่ชายแดนจ-เวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นด่านโหย่วอี้กวาน ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านตงซิง ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา รถขนส่งผลไม้บางคันสินค้าต้องรอคิวเข้าจีน นานนับเดือนถึงจะเข้าประเทศจีนได้
     
สภาพของผลไม้ที่ส่งออกอย่างทุเรียน และขนุน เรียกได้ว่าเสียหายยับเยิน โดยเฉพาะ "ทุเรียนแตก ขนุนเน่าทิ้ง" ผู้ส่งออกบางรายต้องตีกลับนำตู้สินค้าตีกลับมาไทย และส่งออกไปทางเรือ
      
ขณะที่พ่อค้าส่งออกบางรายก็ตีกลับสินค้า ไม่นำขึ้นเครื่องบินเพราะไม่คุ้มค่าขนส่ง เนื่องจากสินค้ารอนานยิ่งทำให้เสียหายมาก ซึ่งค่าขนส่งทางเครื่องบิน ตกตู้คอนเทนเนอร์ละ 1.3 ล้านบาท โดยปกติจะขนส่งมาทางบก เฉลี่ยตู้ละ 160,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่มหาศาลมาก แต่ผู้ส่งออกก็ต้องจำยอม ดีกว่าทิ้งทุเรียนให้เน่าคาตู้ ทุเรียนตู้หนึ่งมีมูลค่า 4 ล้านกว่าบาท เรียกว่าขาดทุนย่อยยับ
 
 พาณิชย์ไทยใบ้กิน ได้แต่เตือนไร้ทางแก้
    
แหล่งข่าวจากผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยไปจีนกล่าวว่าจากปัญหาที่เกิดสถานการณ์รถติดหน้าด่านทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกไทย โดยทางฝ่ายพาณิชย์ของไทยได้แต่เพียงประกาศแจ้งออกมาว่าให้หลีกเลี่ยงใช้เส้นทางขนส่งผ่านด่านโหย่วอี้กวาน ด่านตงซิง เนื่องจากรถติดมาก ให้ไปใช้เส้นทางอื่นแทน ผู้ประกอบการไม่รู้จะไปใช้เส้นทางไหนเพราะติดทุกด่าน

ขณะที่บริษัทโลจิสติกส์ทั้งของไทย รวมทั้งพนักงานขับรถรอไม่ไหวทิ้งรถ ลาออกกันไปหมดเนื่องจากไม่มีงาน บางคันเสียบไฟรถเพื่อรอรถเวียดนามเป็นครึ่งเดือนก็ไม่มีรถเวียดนามมารับสินค้า เพราะรถเวียดนามติดอยู่ที่ชายแดนจีนหมด
 
“งานนี้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบหนักสุด จากมาตรการคุมเข้มหน้าด่านของจีนในเรื่องการจำกัดการนำเข้า ทำให้รถขนผลไม้ต้องจอดรอหน้าด่านนานนับเดือน พนักงานขับรถจอดรถนานทิ้งรถลาออกไปส่วนที่อดทนยอมเสียบไฟรถเพื่อรอรถเวียดนามมารับสินค้าจากชายแดนไทยก็ไม่มา เพราะรถเวียดนามติดอยู่ชายแดนจึนเช่นกัน เรียกว่างานนี้เสียหายทั้งไทยและเวียดนาม” ผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปเวียดนามกล่าว
 
สภาพหน้าด่านนครพนมรถขนส่งเงียบเหงา
        
สำหรับสถานการณ์หน้าด่านของจังหวัดนครพนม จากการสำรวจพบว่าในแต่ละลานจอดที่นครพนม บางลานรถจอดเต็มแต่ไม่มีการขนส่งสินค้าออกไปจีน หรือเวียดนาม รถจอดนิ่งเพราะไม่มีงานขนส่งสินค้า ขณะที่บางลานจอดก็ว่างเปล่าเพราะเจ้าของกิจการบางรายก็ขายรถทิ้งไป ตอนนี้กระจัดกระจายกันไปหมด บางรายเริ่มย้ายฐานไปที่หนองคาย เพื่อจะไปขนส่งขึ้นรถไฟลาว-จีนแทน
       
เมื่อเกิดสภาพปัญหารถติดหน้าด่านมากขึ้น ลูกค้ายอมตัดสินใจใช้เส้นทาง R12 น้อยลง บางรายไม่มาใช้เส้นทางเส้นนี้แล้ว ทำให้กระทบต่อบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้ทางเวียดนามได้ประกาศออกมาว่าตั้งแต่วันที่ 16-25/2/2565 เมืองลางเซิน ไม่อนุญาตให้รถสินค้าเข้าเนื่องจากตอนนี้มีรถที่ตกค้างตั้งแต่ช่วงตรุษจีนถึงปัจจุบัน มีรายงานจากทางเวียดนามเมื่อวันที่ 11/2/2565 ว่ามีรถตกค้าง 1,646 คันเพื่อหลีกเลี่ยงรถแออัดในลานจอด
 
 จับตาฤดูส่งออกผลไม้ไทยส่อเค้าวิกฤตแน่
 
 แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าให้จับตาผู้ส่งออกของไทยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ถึงแม้ยังไม่ใช่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ทุเรียน แต่ก็ยังประสบปัญหาขนาดนี้ หากยังไม่รีบแก้ไขปัญหาเรื่องรถติดเนื่องจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน คาดว่าสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดที่จะออกมาสู่ตลาดในปลายเดือนมีนาคมนี้จะเข้าขั้นวิกฤตอย่างแน่นอน ปัญหาจะกระทบเป็นห่วงโซ่ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมเงียบเหงา ปั๊มน้ำมัน ร้านค้า หน้าด่านสะพานมิตรภาพ 3 นครพนมที่เคยคึกคัก ต่อจากนี้อาจจะต้องซบเซาและเงียบเหงา
      
ทั้งนี้ อยากวอนให้หน่วยงานของรัฐเร่งจับมือกันบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลควรจี้ให้กระทรวงพาณิชย์และทางจังหวัดนครพนม หอการค้านครพนม ผู้ส่งออกผลไม้ไทย เร่งหามาตรการเพื่อต่อรองกับทางการจีน รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เกิดสภาพรถติดหน้าด่าน สินค้าผลไม้เน่าเสียคาด่านอนาคตจะไม่มีผู้ส่งออกรายใดเข้ามาใช้เส้นทาง R12 อีกต่อไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจนครพนมที่ดูกำลังจะคึกคักจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่การส่งออกกลับชะงักงัน เศรษฐกิจไม่มีการเคลื่อนไหวในจังหวัดนครพนม

“อยากให้ช่วยภาครัฐเจรจากับทางจีนเรื่องการตรวจรับสินค้าของไทยให้มากขึ้น และเจรจาเปิดเส้นทางนำเข้าผ่านท่าเรือหวุงอ่าง ท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม สู่ท่าเรือชินโจวของจีน เพื่อจะได้เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการส่งออกมีช่องทางการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ อยากให้ทางจีนเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรถไฟเวียดนาม-จีนทุกวัน” ผู้ประกอบการส่งออกกล่าวเรียกร้อง 


กำลังโหลดความคิดเห็น