xs
xsm
sm
md
lg

แนะนายกฯ ดูงานไต้หวัน บันได 5 ขั้นแก้ปัญหา “ราคาสินค้าเกษตร” สูงแบบยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากจริงใจกับเกษตรกร อย่าใช้วิธีตรึงราคา ต้องศึกษาประเทศที่พัฒนาด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืน

หากอยากให้ราคาสินค้าต่ำลง ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการตรึงราคา เพราะการตรึงราคาสินค้าเกษตรเท่ากับการบีบเกษตรกรให้ยิ่งแย่ลงไปอีก จนในที่สุดอาชีพเกษตรกรจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เพราะทนถูกกดราคาขายไม่ไหว ในขณะที่ต้นทุนยังผันผวน แต่รัฐต้องช่วยเกษตรกรให้ปลูกมากขึ้น เลี้ยงมากขึ้น เพิ่มเทคโนโลยี สอนการบริหารจัดการ ให้รู้จักปรับปรุงทั้งกระบวนการ

ยกกรณีศึกษาของไต้หวันว่าทำอย่างไรจึงทำให้เกษตรกรมีฐานะดีและประชาชนเข้าถึงสินค้าเกษตรในราคาไม่สูง ล่าสุดยังอัดฉีดงบประมาณกว่า 48,000 ล้านบาทช่วยเกษตรกรปรับตัว โดยคณะกรรมการกิจการการเกษตร (Council of Agriculture : COA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวงเกษตรฯ ของไต้หวันรายงานต่อ National Development Council (NDC) ว่า ได้วางแผนการให้ความช่วยเหลือภาคการเกษตร โดยใช้งบประมาณรวม 48,113 ล้านบาท ช่วงระหว่างปี 2565-2568 เพื่อดำเนินโครงการ Green Environmental Benefit Project ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำการเกษตร และยกระดับของอุปทานในสินค้าเกษตรที่ผลิตจากไต้หวัน พร้อมทั้งดูแลรักษาทรัพยากรและพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงผลักดันการเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและยกระดับคุณภาพของข้าวไต้หวันให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วย

เปิดกรณีศึกษาของไต้หวันที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยผ่านบันได 5 ขั้น

ขั้นที่ 1 : แก้ปัญหาเรื่องน้ำ ต้องทำระบบชลประทานให้ดี

ตรงนี้ประเทศไทยมีคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ แต่วันนี้ยังขับเคลื่อนไปไม่ถึงไหน ควรขุดบึงขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำให้เป็นระบบก็ไม่ทำ ติดแค่เรื่องกระจายงบประมาณ จึงได้แต่ขุดบ่อเล็กๆ เป็นเบี้ยหัวแตก เมื่อถึงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเก็บ ถึงหน้าฝนน้ำก็ท่วม มีผลไปถึงต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรกลับถูกกดราคาสินค้า มีแต่แย่กับแย่

ขณะที่รัฐบาลไต้หวันจัดสรรงบประมาณเพื่อทำเรื่องน้ำโดยเฉพาะ โดยชี้แจงว่าหากน้ำมากขึ้นจะสามารถทำการเกษตรได้มากขึ้น เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรจะถูกลง โดยไต้หวันมีโครงการ Green Environmental Benefit Project ครอบคลุมมาตรการในการให้ผลตอบแทนด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรต่างๆ รวมถึงผลตอบแทนจากการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของพื้นที่การเกษตร การผันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไต้หวันยังต้องพึ่งพาการนำเข้า แทนการปลูกข้าว การบริหารการใช้ทรัพยากรน้ำ การวางแผนและใช้งานระบบชลประทานภายในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมให้เพาะปลูกในแบบ Dry Farming

ไต้หวันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 43,200 ไร่ คาดว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยคงพื้นที่ปลูกข้าวให้มีประมาณ 39,200-40,800 ไร่ตามเป้าหมาย ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำก็คาดว่าจะสามารถช่วยประหยัดน้ำในการทำการเกษตรได้มากกว่า 4,200 ตันต่อปี

ขั้นที่ 2 : ปลูกพืชมูลค่าสูงแทนข้าว

การปรับตัวของภาคการเกษตรของไต้หวัน มีรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ต้องนำเข้าเพื่อทดแทนการปลูกข้าว ตรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคตได้ เพราะผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน มะพร้าว และมังคุด ถือเป็นผลไม้สำคัญที่ไต้หวันต้องนำเข้า และที่ผ่านมาเกษตรกรไต้หวันเองก็พยายามที่จะพัฒนาการปลูกทุเรียนและมังคุดเองมาโดยตลอด เพียงแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐก็อาจทำให้ไต้หวันสามารถขยายพันธุ์ทุเรียนและมังคุดเองได้ จนอาจลดการนำเข้าจากไทยได้เช่นกัน เมื่อน้ำเพียงพอ เกษตรกรก็มีตัวเลือกในการปลูกพืชที่ให้มูลค่าสูงกว่า ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องเข้าใจและส่งเสริมให้ถูกจุด

ขั้นที่ 3 : กองทุนปลอดดอกเบี้ย

ยามวิกฤตโรคระบาดในปศุสัตว์ ต้องมีกองทุนปลอดดอกเบี้ยไปช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ล้มหายตายจาก หากไม่เข้าไปช่วยเหลือ เกษตรกรจะเลิกเลี้ยงสัตว์ ตามหลักการตลาด เมื่อสินค้าน้อยลงราคาก็สูงขึ้น แต่เกษตรกรน้อยรายที่อยู่รอด กลับถูกควบคุมราคา ทำให้อาชีพเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงและถูกควบคุมราคา เพราะความไม่เข้าใจของรัฐบาล จึงไม่เคยวางแผนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ถูกที่

แต่ในไต้หวันมีการจัดตั้งกองทุนเกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยต่างๆ เช่น ด้านสภาพแวดล้อมจากภาวะโลกร้อน น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น

ขั้นที่ 4 : เพิ่มจำนวนเกษตรกรให้มากขึ้น

ภาครัฐต้องเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนำความรู้ใหม่ๆ ถ่ายทอดให้กับเกษตรกร โดยรัฐต้องช่วยเหลือด้านการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ การเพาะปลูก โดรน และการบริหารจัดการความปลอดภัยและสุขอนามัย

ที่ไต้หวันใช้งานวิจัยและพัฒนา ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรไต้หวันประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์เงาะในเชิงพาณิชย์ จนมีวางขายในตลาดได้แล้ว ดังนั้น เกษตรกร/ผู้ส่งออกไทยจึงควรหันมาให้ความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพสินค้าให้อยู่ในระดับที่ดี รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการรักษาความสม่ำเสมอของผลผลิตสินค้าให้มีตลอดปี นับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาตลาด

ขั้นที่ 5 : ทำความเข้าใจเรื่องกลไกตลาดกับการบริหารจัดการราคาแบบยั่งยืน

ไต้หวันมองว่าการประกาศนโยบายด้านการเกษตรต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจกลไกตลาด หน้าที่ของภาครัฐคือเพิ่มจำนวนการผลิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นการเพิ่มสินค้าเข้าสู่ตลาด ตามหลักการตลาดที่ว่าเมื่อซัปพลายสู่ตลาดมีมากขึ้น ราคาก็จะลดต่ำลงมาเอง เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่หากไปบีบราคา โดยไม่พัฒนาที่ซัปพลาย จะนำไปสู่การล่มสลายของอาชีพเกษตรกร ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามักใช้วิธีนี้จึงมีเกษตรกรที่ยากจน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเกษตรกรจะมีฐานะดี

ดังนั้น หน้าที่ของรัฐไม่ใช่การควบคุมราคาหรือตรึงราคา แต่ควรจะหาตลาดให้เกษตรกร ช่วยทำให้เกษตรกรมีต้นทุนถูกลง จากการปรับตัว เพิ่มซัปพลายสู่ตลาด ขยายดีมานด์ให้มีความต้องการสูงขึ้น ก็จะทำให้การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน

ไต้หวันยังมีความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง ในแง่ของการเปิดตลาดการค้าสินค้าเกือบทั้งหมดของ ประเทศสมาชิก ซึ่งส่งผลดีต่อการกระตุ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและการค้นคว้าวิจัย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทที่สำคัญของไต้หวันในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้คนอยากหันมาทำอาชีพเกษตรกร

สรุปได้ว่า ทั้ง 5 ข้อเป็นสิ่งที่ไต้หวันได้ทำให้เกษตรกรหลุดพ้นความยากจน และได้บรรจุลงในแผนพัฒนาปี 2565-2568 ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเกษตรเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน ซึ่งภาครัฐของประเทศไทยมีการพูดถึงเป็นระยะ แต่ขาดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม หากบริหารจัดการระบบน้ำ ระบบชลประทานให้คืบหน้า เติมความรู้ความเข้าใจด้านกลไกตลาด ใช้กรณีศึกษาของไต้หวันในฐานะประเทศที่พัฒนาแล้วด้านเกษตรกรรมก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น