xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯ ราชบุรีเรียกหน่วยงานทบทวนมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชบุรี - รองผู้ว่าฯ เรียกหน่วยงานทบทวนมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมเขิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหามาตรการเข้มป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

วันนี้ ( 19 ม.ค. ) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดราชบุรี นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานประชุมทบทวนมาตรการเข้มงวดป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร AFS ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้เกิดการระบาดในฟาร์มสุกรประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ร้ายแรงในสุกรที่ไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายกับคน

ที่ผ่านมาจังหวัดราชบุรี ได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการประชุมในวันนี้จังหวัดราชบุรี ได้ร่วมทบทวนมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันโรคอหิวาแอฟริกาในสุกร ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในจังหวัดราชบุรี ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของกรมปศุสัตว์ และทบทวนบทบาทหน้าที่แต่ละหน่วยงานของแผนป้องกันและเผชิญเหตุโรคระบาดสัตว์

โดยนายบุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี กล่าวภายหลังการประชุมว่าจังหวัดราชบุรีได้เตรียมการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดต่อการระบาดของโรค ในส่วนของฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่าย เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสุกรของจังหวัดราชบุรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีมาตรการป้องกันต่างๆ ให้ผู้ประกอบการฟาร์มสุกร โรงฆ่าสัตว์

รวมทั้งร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ในพื้นที่ จังหวัดราชบุรี ตรวจสอบอย่างเข้มงวดในการนำสุกรจากแหล่งที่มาที่ชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมายเข้าโรงฆ่าสัตว์หรือรับเนื้อสุกรจากแหล่งที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้มาจำหน่าย
อีกทั้งกรมปศุสัตว์มีข้อสั่งให้ติดตามเฝ้าระวังโรค ASF หากพบการระบาดของโรคต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุเพื่อควบคุมโรคได้โดยเร็วรวมถึงเพิ่มช่องทางและเน้นการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ ถูกต้องแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เสียหาย เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการผลิตสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุกร พร้อมสั่งการให้สำรวจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และปริมาณหมูที่คงเหลือในระบบ สำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้ เนื้อหมูในประเทศ และปริมาณการส่งออก

เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความต้องการสุกรทั้งระบบให้ ศึกษาการเพิ่มผลผลิตสุกรแม่พันธุ์และลูกหมูในระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และการช่วยเหลือบริการเกษตรกรผู้เลี้ยง รายย่อยและรายเล็ก การช่วยเหลือด้านอาหารสัตว์และศึกษาวิจัยด้านอาหารสัตว์ เพื่อเป็นการลดต้นทุน ในการผลิต การร่วมมือกับ หน่วยงานต่างๆ เช่น พาณิชย์จังหวัดในการตรวจสอบห้องเย็นเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อย่างไรก็ดีปัจจุบัน จังหวัดราชบุรียังไม่พบโรคโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะโรคนี้ไม่ติดต่อถึงคน การบริโภคหมูขอให้ปรุงสุกทุกครั้ง ทั้งนี้เกษตรกรที่พบว่าสุกรที่เลี้ยงตายและสงสัยเป็นโรค AFS  ขอให้แจ้งปศุสัตว์ราชบุรีด่วน หรือแจ้งผ่านแอปพิเคชั่น DLD 4.0 ปศุสัตว์ไทย จะมีเจ้าหน้าที่ไปควบคุมโรคตามที่ได้แจ้งไว้








กำลังโหลดความคิดเห็น