โฆษกรัฐบาล เผย “นายกฯ” ห่วงปัญหาสินค้าราคาแพง สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขเร่งด่วน และติดตามใกล้ชิด พร้อมนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้
วันนี้ (17 ม.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์สินค้าราคาแพงด้วยความห่วงใย แม้จะเข้าใจดีว่า การปรับราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากที่ผ่านมา ราคาสินค้าต้นทุนหลายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงาน อาหารสัตว์ รวมไปถึงสินค้าบางประเภท เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ หมู ที่มีปริมาณในระบบลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงเท่าเดิมหรือสูงขึ้น ปลายเดือนนี้ เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน อาจทำให้ปริมาณความต้องการเนื้อสัตว์ หมู ไก่ เป็ดและผลไม้ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น อาจกระทบราคาจำหน่ายที่แพงขึ้นเป็นการชั่วคราวด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้นำประเด็นสินค้าราคาแพง เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้ที่ประชุม ครม. ร่วมกันพิจารณามาตรการเร่งด่วนในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยไม่ให้กระทบกลไกตลาดเพิ่มเติมจากหลายมาตรการที่กระทรวงพาณิชน์ และกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงพาณิชย์ ได้รับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการกำหนดมาตรการดูแลพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพประจำวัน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต่ออีก 2 เดือนที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ถึงวันที่ 31 มีนาคม จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม นี้ บมจ.ปตท. (PTT) ลดราคาก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อีกทั้ง ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” ให้กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565
กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2565 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 เดือน กรมการค้าภายในยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือน สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565 และตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ที่ 2.90 บาท ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาราคาหมูแพง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่เป็นต้นทุนหลักในการเลี้ยงหมูเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ สำนักงานพัฒนาอาหารสัตว์ ได้เร่งศึกษาสูตรผลิตอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม
นายธนกร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาสินค้าแพงดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลพร้อมจะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาโดยตรึงราคาสินค้าบางส่วนไว้เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ ยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่กำหนด คือ 1-3% “นายกฯ” สั่งการเร่งมาตรการลดภาระประชาชน/กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ก.คลัง ประชุมด่วนเดินหน้า “คนละครึ่งเฟส 4” เร็วขึ้น เปิดลงทะเบียน 14 ก.พ. 65 เริ่มใช้จ่าย 21 ก.พ. 65 จากเดิมที่กำหนดไว้ช่วงมีนาคม-เมษายน 2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนและเติมเม็ดเงินในระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการคู่ขนาน จึงอยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ลดการผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภค ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบต่อภาพรวมกำลังซื้อของคนในประเทศได้