“พาณิชย์” ชง ครม.ของบกลาง 1,400 ล้านทำโครงการลดค่าครองชีพประชาชน 3 เดือน เผยการแก้ปัญหาเนื้อหมูได้เช็กสต๊อกเพิ่มจุดขายถูกกิโลฯ ละ 150 บาท 667 จุดทั่วประเทศ รณรงค์บริโภคโปรตีนทางเลือก ส่วนไข่ไก่สรุปแล้ว ตรึงไข่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.90 บาทจนกว่าจะคลี่คลาย เนื้อไก่นัดถกอีกครั้ง 17 ม.ค.นี้ กำหนดรายละเอียดตรึงราคา แย้มเปิดจุดขายไก่ถูก 3,050 จุด ทั้งในห้างฯ ปั๊มพีที ตลาด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามราคาสินค้าที่โลตัส รัตนาธิเบศร์ ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอของบกลางในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค. 2565 วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท มาจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา! ลดค่าครองชีพประชาชน เพื่อเพิ่มทางเลือก สร้างความสมดุลด้านราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในตลาดและการบริโภคภาคครัวเรือนในสถานการณ์นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการระยะ 90 วัน หรือ 3 เดือน
ทั้งนี้ ในส่วนของการเพิ่มปริมาณเนื้อหมู กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการห้ามการส่งออก มีการเช็กสต๊อกหมูทั้งระบบ และได้เพิ่มจุดขายหมูเนื้อแดงราคาถูกกิโลกรัมละไม่เกิน 150 บาท 667 จุดทั่วทั้งประเทศ เพื่อชี้นำและแทรกแซงราคาในช่วงจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง และมีหลายฝ่ายออกมาช่วยรณรงค์ให้บริโภคโปรตีนทางเลือกอื่น เช่น ไก่ ไข่ ซึ่งได้เข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้หนีจากหมูราคาสูงมาเจอไก่ราคาแพง ถ้ามีการฝ่าฝืนจะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะการค้ากำไรเกินควร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นกลไกหลักนำทีมแก้ปัญหาเรื่องนี้ในแต่ละจังหวัด
ส่วนปัญหาหมูราคาแพงมีสาเหตุเพราะปริมาณหมูในระบบขาดหายไป การแก้ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ปริมาณเพิ่มขึ้น ราคาปรับลดลงในระดับที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ ซึ่งต้องใช้ยาหลายขนาน ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น 1. เพิ่มปริมาณหมูในตลาด โดยห้ามส่งออกหมู จะช่วยเพิ่มปริมาณหมูได้ปีละประมาณ 1,000,000 ตัวโดยประมาณ 2. เร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมูป้อนเข้าระบบ เป็นหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์ ได้รับแจ้งจากกรมปศุสัตว์ว่า กำลังเร่งผลิตลูกหมูป้อนเข้าระบบสัปดาห์ละ 300,000 ตัวโดยประมาณ 3. เร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมู โดยรัฐบาลจัดให้มีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่าน ธ.ก.ส. ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถกู้เงิน 4. ส่งเสริมการเลี้ยงหมูรายใหม่โดยเฉพาะรายย่อย มุ่งเน้นฟาร์มระบบมาตรฐานเพื่อป้องกันการติดโรค หากพบว่ามีการติดเชื้อปศุสัตว์จะต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหา แต่ต้องเร่งจ่ายเงินชดเชย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
สำหรับไข่ไก่ ได้มีมติร่วมกันทั้งสมาคมผู้เลี้ยงไข่ทั่วทั้งประเทศ คนกลาง ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงผู้ส่งออก ตกลงกันตรึงราคาหน้าฟาร์มฟองละไม่เกิน 2.90 บาท จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งจะมีผลให้การขายปลีกราคาปรับลดลงอยู่ที่ 3 บาทกว่าต่อฟอง ขึ้นอยู่กับขนาด และต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าแผงบรรจุ เป็นต้น
ขณะที่เนื้อไก่ มีการเจรจาเบื้องต้นและมีข้อสรุปแล้ว แม้ยังมีบางฝ่ายที่ยังติดขัด ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเรียกประชุมอีกครั้งวันที่ 17 ม.ค. 2565 โดยมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมการไว้ คือ 1. ด้านปริมาณ ได้รับการยืนยันจากเกษตรกรและผู้ผลิตรายต่างๆ ว่าจนถึงขณะนี้ไก่มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ตัว คือ 1. ไก่สดทั้งตัว 2. น่องติดสะโพก และ 3. เนื้อหน้าอก ที่จะเป็นราคานำไปสู่ชิ้นส่วนอื่นๆ ให้กำหนดข้อตกลงร่วมกันว่าจะตรึงราคาแต่ละชิ้นส่วนที่ราคาเท่าไร และ 2. แทรกแซงราคาชี้นำตลาดในราคาพิเศษ เพื่อป้องกันการดึงราคาสูงจนเกินไปเพื่อเป็นทางเลือก โดยจะจัดจุดจำหน่ายไก่ราคาถูก 3,050 จุด โดยต้องของบกลางมาช่วยบริหารจัดการ และดูแลให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจุดจำหน่ายไก่ราคาถูกที่เตรียมการไว้ จะมีในส่วนของห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะปั๊มพีทีทั่วประเทศ 1,500 ปั๊ม ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น รวมทั้งตลาดสด รถโมบายล์ และลานสาธารณะชุมชน
ทางด้านสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการบริโภค เช่น เอาหารกึ่งสำเร็จรูป กรมการค้าภายในยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้สินค้ารายการใดขึ้นราคา ใครฉวยโอกาสขึ้นราคาต้องดำเนินคดีตามมาตรา 29 จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ดำเนินการโดยเคร่งครัด และตนสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งโครงการคนละครึ่งมาดำเนินการเร็วขึ้น เพราะชาวบ้านตอนนี้ต้องยอมรับว่าเดือดร้อนมาก คนละครึ่งจะเข้ามาช่วยลดภาระค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน
“การเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่อยู่อย่างเต็มที่ แม้จะเป็นส่วนปลายทางของภาคการผลิตก็ตาม ซึ่งผมได้ให้เป็นนโยบายและการดำเนินการใดให้ถือหลักทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ให้เกิดความสมดุล ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย” นายจุรินทร์กล่าว