xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่คืบ! บริษัทรับเหมาโวยสำนักงานจังหวัดประจวบฯ ค้างจ่ายงบสร้างถนน 22 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ไม่คืบ! บริษัทรับเหมา โวยสำนักงานจังหวัดประจวบฯ ค้างจ่ายงบสร้างถนน 22 ล้าน มาหลายเดือน อ้างลูกจ้างทำงานพลาด บริษัทเดือดร้อน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมชี้แจงว่า จะได้เงินในปีงบประมาณหน้า แต่ไม่ได้ระบุวันที่เพื่อจ่ายค่างวดอย่างชัดเจน

วันนี้ (6 ก.ย.) นายนิวัฒน์ ศิริวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอ ซี เอ็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า หลังจากยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานจังหวัด ก่อสร้างโครงการปรับปรุงถนนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล เส้นทางบ้านทุ่งมะเม่า-บ้านบ่อนอก ต.บ่อนอก อำเภอเมืองฯ ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร ใช้งบ 37.5 ล้านบาท โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 แต่หลังจากทำงานเสร็จตามกำหนด ล่าสุด ยังไม่รับเงินค่างวดรวมกว่า 22 ล้านบาท

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานจังหวัดค้างจ่ายค่างวดตั้งแต่เมษายน 2564 ทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซ้ำเติมความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากต้องนำเงินไปใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าแรง แต่ขณะนี้ไม่สามารถเบิกเงินค่างวดได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ยังมีปัญหาจากกลุ่มผู้รับเหมาในพื้นที่พยายามกีดกันการซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยบริษัทที่มาจากต่างจังหวัด แต่ชนะการประมูลงานก่อสร้างใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีปัญหาถูกกีดกันในลักษณะเดียวกันแทบทั้งหมด สำหรับค่างวดที่ค้างจ่าย ทราบว่ามีบริษัทรับเหมาก่อสร้างในจังหวัด 3 ราย มีปัญหาลักษณะเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดสามารถเบิกจ่ายค่างวดได้ตามปกติ

"ศูนย์ดำรงธรรมชี้แจงว่าจังหวัดจะเบิกจ่ายงบ 22 ล้านบาท ได้ในปีงบประมาณ 2565 หรือหลังเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไปตามยอดเดิม ไม่มีดอกเบี้ยเยียวยาความเสียหาย ไม่ได้ระบุวันที่เพื่อจ่ายค่างวดอย่างชัดเจน ผู้อำนวยการกลุ่มงานที่รับผิดชอบด้านการเงินที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายแจ้งว่า สาเหตุที่จ่ายเงินไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้กันงบที่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือเอาไว้ เป็นความผิดพลาดในการลงระบบงบประมาณของเจ้าหน้าที่ ทำให้มีปัญหากับกรมบัญชีกลาง จากนั้นแจ้งว่าจะหาเงินงบประมาณส่วนอื่นมาเบิกจ่ายให้บริษัท" นายนิวัฒน์ กล่าว

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและการแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ลงนามการจ้าง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่แหล่งข่าวจากข้าราชการระดับสูง ยืนยันว่า สาเหตุความผิดพลาดเกิดจากพนักงานราชการรายหนึ่ง ทำหน้าที่ทดแทนพนักงานที่ถูกแจ้งดำเนินคดีทุจริตงบสำนักงานจังหวัด 40 ล้านบาท คีย์ระบบคืนเงินงบประมาณโครงการผิดพลาด ในระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS ขณะที่หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้างานการเงิน และบัญชีที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายงบให้ผู้รับเหมา 22 ล้านบาท อยู่ระหว่างการรอผลสอบสวนทางวินัยร้ายแรง จากกระทรวงมหาดไทย กรณีลูกจ้างโกงงบ 40 ล้านบาทนานกว่า 1 ปี แต่ยังไม่มีข้อสรุป








กำลังโหลดความคิดเห็น