ฉะเชิงเทรา - คกก.โรคติดต่อฉะเชิงเทราปลดล็อกโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 2 แห่ง หลังทำแผนป้องกันโควิด-19 ได้ตรงใจ ขณะ ปธ.สภาอุตฯ รับลูกดันโรงงานกว่า 2 พันแห่งในพื้นที่เรียนรู้วิธีหนีการเป็นคลัสเตอร์ใหญ่
จากกรณีในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งปิดโรงงานหลายแห่งในพื้นที่หลังพบว่ามีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนภายในโรงงาน และยังมีพนักงานจากต่างถิ่นที่เดินทางแบบไปกลับเข้ามาทำงานในพื้นที่จนเป็นสาเหตุใหญ่ของการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากใน จ.ฉะเชิงเทรา
โดยเฉพาะคำสั่งปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ใน อ.บางคล้า ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 4,500 คน และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 500 คน รวมทั้งยังผู้มีความเสี่ยงสูงกว่า 600 คน
จนบริษัทดังกล่าวต้องยื่นเสนอแผนเพื่อขอเปิดโรงงานก่อนกำหนด 14 วัน หลังปิดทำการได้เพียง 5 วัน แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้ให้ทางบริษัทนำแผนดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่จำเป็นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนรอบข้างนั้น
วันนี้ (5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 48/2564 ซึ่งมี นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานได้มีมติให้โรงงานบริษัทไทยแอโรว์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์สามารถเปิดทำการได้อีกครั้งหลังถูกสั่งปิดนานถึง 17 วัน
หลังบริษัทฯ ได้นำเสนอแผนเผชิญเหตุป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วยการกำหนดให้พนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำจากการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,050 คนเข้าทำงาน แต่จะต้องทำงานและพักอาศัยอยู่แต่ในโรงงานเท่านั้น
ส่วนพนักงานที่เหลือ รวมทั้งผู้ป่วย ผู้ที่ยังรักษาตัวและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทางโรงงานจะให้กักตัวในสถานที่เหมาะสมและมีความรัดกุม ซึ่ง ศบค.ฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งให้นายอำเภอบางคล้า เป็นผู้กำกับดูแลตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.64 เป็นต้นไป
นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังเห็นชอบให้ โรงงานซีเอชโอโต้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.แปลงยาว สามารถเปิดทำการผลิตได้เช่นกันหลังเสนอแผนดูแลพนักงาน 234 คน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำให้เข้าทำงานและพักอยู่แต่ภายในสถานที่ที่ทางโรงงานจัดให้
ส่วนพนักงานที่ยังป่วย และรักษาตัวอยู่ รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกักตัวอยู่ภายในสถานที่กักกันอย่างรัดกุม
อย่างไรก็ดี วันนี้คณะกรรมการยังมีคำสั่งปิดตลาดวัดท่าเกวียนใน อ.พนมสารคาม เป็นเวลา 14 วันระหว่างวันที่ 6-19 ส.ค.นี้หลังพบการระบาดของโรคโควิด-19
และอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือกบริการแก่ประชาชน ซึ่งในเดือน ส.ค.นี้ สำนักงานสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา ยังจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากส่วนกลางอีกจำนวน 100,000 โดส เพื่อฉีดให้ประชาชน รวมทั้งวัคซีนไฟเซอร์กว่า 4,000 โดส เพื่อฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์
ด้าน นายจิรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา เผยว่า จากนี้จะได้ประสานงานไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุข เพื่อขอให้จัดอบรมผู้แทนโรงงานในพื้นที่เพื่อให้ได้รับทราบถึงการจัดทำแผนเผชิญเหตุและแผนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถูกต้องต่อไปเพื่อลดการเป็นคลัสเตอร์ใหม่
ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน จ.ฉะเชิงเทรา วันนี้มี 437 ราย พบมากในเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา มากถึง 125 ราย รองลงมาคือ พนมสารคาม 69 ราย บ้านโพธิ์ 67 ราย และกระจายกันอยู่ในอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอ ทำให้การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 12,818 ราย เสียชีวิตสะสม 76 ราย