ฉะเชิงเทรา - โรงงานเมืองแปดริ้วดิ้นขอเปิดทำการหลังถูกคำสั่งปิด 14 วัน เหตุปล่อยโควิด-19 ระบาดจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ล่าสุด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาให้ไฟเขียวแค่ 1 โรงงาน ส่วนอีก 2 แห่งถูกตีกลับเหตุแผนควบคุมมีช่องว่าง
วันนี้ (29 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสถานประกอบการโรงงาน 3 แห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย บริษัทอีคอร์เนส (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด อ.บางคล้า และบริษัทซีเอชโอโต้อินดัสตรี่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้เข้ายื่นเสนอแผนบริหารจัดการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
เพื่อขอเปิดดำเนินการก่อนระยะเวลา 14 วันหลังถูกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสั่งปิด เนื่องจากปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในสถานประกอบการนั้น
โดยได้มีการเสนอแผนปฏิบัติตนของพนักงาน แผนการขนย้ายแรงงานและการเดินทางมาทำงาน รวมทั้งแผนเผชิญเหตุหากพบผู้ติดเชื้อที่จะต้องกักตัวและทำการ รวมทั้งแผนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยภายในโรงงาน
ส่วนกรณีแรงงานเดินทางข้ามจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม หากเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และหากเป็นซิโนแวคต้องได้รับมาแล้วครบ 2 เข็ม รวมทั้งการทำ Antigen Test Kids แบบสุ่มตรวจร้อยละ 10 จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในทุกๆ 7 วันในกรณีที่พนักงานยังไม่ได้รับวัคซีนนนั้น
ผลสรุปว่าที่ประชุมได้พิจารณาให้ บริษัทอีคอร์เนส (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ได้เสนอวิธีปิดล็อกโรงงานให้พนักงานที่จะมาทำงานอยู่แต่ภายในบริษัท โดยไม่สามารถเดินทางเข้าออกมายังภายนอกได้
ส่วนผู้ประกอบการอีก 2 ราย ที่ประชุมพิจารณาว่าเป็นการเสนอแผนบริหารจัดการที่ไม่ชัดเจนโดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากยังคงเปิดโอกาสให้พนักงานได้เดินทางกลับบ้านจึงเกรงว่าอาจนำเชื้อกลับไปแพร่กระจายสู่สังคมหรือรับเชื้อกลับเข้ามาในโรงงานได้อีก
ขณะที่ นายจิรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา เผยว่า ขณะนี้สังคมยังคงเฝ้าจับตาการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งกรณีที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีคำสั่งปิดโรงงานหลายแห่งเนื่องจากพบการแพร่ระบาดในกลุ่มพนักงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการต่างๆ จึงต้องมีความชัดเจนในการดูแล
โดยโรงงาน 2 แห่งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการก่อนเวลาที่กำหนดเป็นเพราะแผนควบคุมโควิด-19 ที่นำเสนอต่อที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนและยังมีช่องว่างอยู่มาก ดังนั้น ในการประชุมที่จะมีอีกครั้งในอีก 2 วันข้างหน้าผู้ประกอบการทั้ง 2 แห่งจะต้องจัดทำแผนกลับมาเสนอคณะกรรมการเพื่อให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง