ฉะเชิงเทรา - ฉะเชิงเทราเข้มมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างถิ่นเข้าพื้นที่ หลังคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมทำตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงต่อเนื่องจนถูกยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม ล่าสุด นิคมฯ 4 แห่งจ่อยื่นหนังสือขอมาตรการผ่อนปรนหลังภาคการผลิตกระทบหนัก
จากกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มี นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้จัดประชุมร่วมสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรม ที.เอฟ.ดี.บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ อ.แปลงยาว และสวนอุตสาหกรรม 304 ปาร์ค 2 อ.พนมสารคาม เพื่อหาแนวทางแก้ไขการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่เกิดจากคลัสเตอร์กลุ่มแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า โรงงานทุกแห่งที่เปิดดำเนินงานในพื้นที่จะต้องมีแผนสำคัญในสถานประกอบการ 4 ประการ คือ 1.ต้องมีการบริหารจัดการพนักงานแบบนิว นอร์มอล ทั้งการปฏิบัติตัวของพนักงาน แผนการขนย้ายแรงงาน และการเดินทางมาทำงานในพื้นที่
รวมทั้งแผนเผชิญเหตุหากพบผู้ติดเชื้อที่จะต้องทำการกักตัวและรักษา อีกทั้งจะต้องมีแผนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยภายในโรงงาน ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น
2.กรณีแรงงานที่เดินทางข้ามจังหวัดจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มหากเป็นแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคต้องได้รับครบทั้ง 2 เข็ม
3.หากแรงงานของสถานประกอบการใดยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เจ้าของสถานประกอบการจะต้องทำ Antigen Test Kids แบบสุ่มตรวจให้ได้ร้อยละ 10 จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในทุกๆ 7 วัน
4.หากโรงงานทำตามแผนที่กำหนดแล้วยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึงร้อยละ 10 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด จะต้องปิดโรงงานเป็นเวลา 14 วันทันที ทั้งนี้ หากโรงงานสามารถจัดทำแผนป้องกันการแพร่ระบาดเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา จนผ่านการพิจารณาทบทวน สามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่แม้จะยังไม่ครบ 14 วันก็ตาม
วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากผู้บริหารโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า กำลังมีความพยายามที่จะยื่นหนังสือเพื่อขอให้ทางจังหวัดทบทวนมาตรการผ่อนปรนเรื่องการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัด เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งมีแรงงานจากหลายพื้นที่เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อหลายจังหวัดจึงทำให้มีแรงงานจากต่างพื้นที่เดินทางไปกลับทั้งใน จ.สมุทรปราการ ชลบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกพื้นที่และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างรุนแรง ผลที่ตามมาคือระบบการผลิตที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวยังได้รับการร้องเรียนจากทางพนักงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งว่า แม้ทางจังหวัดจะมีมาตรการเข้มงวดเรื่องการป้องกันโควิด-19 แต่ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่ละเลยคำสั่งและยังปล่อยให้พนักงานที่มีความเสี่ยงสูงเข้าทำงานปะปนกับพนักงานรายอื่นๆ
โดยหวั่นว่าอาจทำให้พนักงานในไลน์การผลิตต้องกลายเป็นผู้เสี่ยงสัมผัสโรค และสุดท้ายอาจได้รับเชื้อจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ พร้อมร้องขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการกับสถานประกอบการดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าในรถยนต์ใน อ.บางคล้า ซึ่งมีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ถึงกว่า 500 คนและผู้มีความเสี่ยงสูงกว่า 600 คน จากพนักงานทั้งหมด 4,200 คน เคยถูกคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา สั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 14 วันไปแล้ว
หลังพบว่าปล่อยให้พนักงานที่มีความเสี่ยงสูงกลับเข้ามาทำงานในแผนกทั้งที่ยังอยู่ช่วงกักตัวจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในไลน์การผลิตเดิมที่ถูกปิดไป
และเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ยื่นเสนอแผนเพื่อขอเปิดโรงงานก่อนกำหนด 14 วันหลังปิดดำเนินการเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้ขอให้ทางบริษัทนำแผนดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่เพื่อให้นำกลับมายื่นเพื่อเข้ารับการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนรอบข้าง