ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผวจ.ชลบุรี สั่งปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ใน อ.บ้านบึง หลังพบแรงงานติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 300 คน แต่ผู้บริหารชาวเกาหลีกลับไม่มีมาตรการแก้ไข ซ้ำยังให้เปิดทำงานตามปกติจนพนักงานสุดทนรวมตัวประท้วงกว่า 2,000 คน
จากเหตุการณ์พนักงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกทั่วโลก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.1 ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งมีทั้งชาวไทยและต่างด้าวรวมตัวประท้วงที่บริเวณด้านหน้าบริษัท ฮัลซอล เทคนิค (ประเทศไทย) จำกัด หลังไม่พอใจเจ้าของโรงงานชาวเกาหลี ที่ไม่ยอมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในโรงงาน
แต่กลับเลือกที่จะหาซื้อเครื่องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เข้าตรวจกลุ่มแรงงานและพนักงานที่มีทั้งหมดกว่า 2,000 ชีวิต จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 300 คน ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้นอกจากจะไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว กลับเปิดให้แรงงานและพนักงานทำงานตามปกตินั้น
ล่าสุด วันนี้ (4 ส.ค.) นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบ้านบึง พร้อมด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ และ พ.ต.อ.ทวี กุดแถลง ผู้กำกับการ สภ.บ้านบึง ได้นำเจ้าหน้าที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี บุกเข้าไปตรวจสอบภายในโรงงาน
โดยพบยังคงมีแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าวทำงานตามปกติ และยังคงใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากพนักงานภายในโรงงาน และยังพบผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 250-350 คนจริงตามที่พนักงานได้รวมตัวกันประท้วง แต่ที่น่าตกใจคือ ยังมีพนักงานกลุ่มเสี่ยงอยู่ภายในโรงงานอีกเป็นจำนวนมาก
เบื้องต้น นายอำเภอบ้านบึงได้มีคำสั่งให้เจ้าของโรงงานชาวเกาหลี ปิดทำงานภายในโรงงานเป็นการชั่วคราว พร้อมทำรายงานเสนอผู้ว่าราชการชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้สั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 7 วัน
และหากถึงกำหนดแล้วยังพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในโรงงานยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติจะให้ปิดเพิ่มขึ้นต่อไป
ส่วนผู้ติดเชื้อประมาณ 250-350 คน ได้เร่งนำตัวส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสนามภายใน อ.บ้านบึง ซึ่งเจ้าของชาวเกาหลีจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ขณะที่ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ เผยว่า ตนเองพร้อมที่จะให้กำลังใจพนักงานโรงงานดังกล่าวและจะร่ววมหาทางออกให้ผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานในทิศทางที่ควรจะเป็น
เช่น การส่งพนักงานรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งจัดหาที่กักตัวให้กลุ่มเสี่ยงเพื่อหาทางเยียวยาต่อไป