xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เกาะติดคลัสเตอร์โรงงาน หวั่นลากยาวกระทบห่วงโซ่การผลิตไทยชะงักงัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.วิตกคลัสเตอร์โรงงานลามต่อเนื่อง หากขยายวงถึงกลาง ส.ค.อาจกระทบห่วงโซ่การผลิตชะงักงันซึ่งจะทำให้กระทบสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการอาจขาดแคลนในประเทศและกระทบส่งออกได้ ชี้หากขยายล็อกดาวน์ต่อไม่มีเอกชนต้องการแต่ขึ้นอยู่กับระบบสาธารณสุขรับไหวหรือไม่เพราะหากไม่ไหวสุดท้ายไม่ล็อกดาวน์ก็เหมือนล็อกดาวน์อยู่ดี แนะรัฐเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน ตรวจเชิงรุกโดยเร็ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ใกล้ชิดหลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังคงอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยกว่า 14,000 คน และมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในโรงงานมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวไม่คลี่คลายและขยายวงกว้างไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 อาจส่งผลให้ไทยมีโอกาสเผชิญกับภาวะห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก (Supply Side Disruptions) และนำมาซึ่งการขาดแคลนสินค้าอุปโภคและบริโภคภายในประเทศบางรายการได้ และจะสะท้อนไปถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออกตามมา

“โควิด-19 รอบที่ 1 และ 2 ทั่วโลกมีปัญหาขาดแคลนสินค้าแต่ไทยเราไม่เป็นปัญหา โดยจนถึงขณะนี้ไทยเผชิญกับปัญหาเฉพาะในเรื่องของอุปสงค์หรือการบริโภค (Demand Side) ที่ลดต่ำลง แต่เมื่อการระบาดโควิดรอบ 3 ที่รุนแรงต่อเนื่องและเกิดคลัสเตอร์โรงงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรงงานแปรรูปไก่ โรงงานอุปกรณ์สเตนเลส โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ จนส่งผลกระทบการผลิต และหากลุกลามไปเรื่อยๆ จะกระทบเป็นลูกโซ่ ส.อ.ท.กังวลว่าจะทำให้ไทยประสบปัญหาการผลิตได้ ซึ่งแม้ว่าเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็มีมาตรการป้องกันดูแลอย่างเข้มแข็งแล้วก็ตาม แต่หากภาพรวมมีการติดเชื้อสูงทำให้การเล็ดลอดสู่โรงงานย่อมมีสูงตามมาด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการล็อกดาวน์ที่ขยายเวลาไปจนถึง 2 สิงหาคมรวมเป็น 13 จังหวัด แม้ว่ายังไม่ได้กระทบต่อการผลิตในโรงงานอย่างมีนัยสำคัญแต่ก็ยอมรับว่าทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและมีปัญหาในเรื่องของระบบขนส่งที่อาจล่าช้ารวมถึงการขนแรงงานข้ามจังหวัด เช่น กรณีจังหวัดฉะเชิงเทรามีแรงงานจากพื้นที่อื่นต้องเดินทางข้ามมาทำงานราว 3-4 หมื่นคน หลังจากที่มีการติดเชื้อในโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ทำให้จังหวัดมีการคุมเข้มไม่ให้เดินทางเข้ามา แต่ทาง ส.อ.ท.จังหวัดก็ได้มีการหารือใกล้ชิดเพื่อผ่อนปรน โดยมีเงื่อนไขว่าหากมีการพบว่าติดเชื้อ 10% ของพนักงานในโรงงานใดโรงงานนั้นต้องหยุดชั่วคราวทันที เป็นต้น

นายเกรียงไกรกล่าวว่า หากถามว่ารัฐบาลควรจะขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดต่อไปอีกหรือไม่เชื่อว่าภาคเอกชนและประชาชนที่หาเช้ากินค่ำส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่มีใครอยากให้ดำเนินการต่อเพราะทุกภาคส่วนจะได้รับผลกระทบเพิ่มอีกแน่นอนจากที่บอบช้ำมากอยู่แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงการตัดสินใจจะขยายเวลาล็อกดาวน์หรือไม่ต้องพิจารณาในมุมด้านสาธารณสุขว่าพร้อมหรือยัง เพราะหากบุคลากรทางการแพทย์และด้านสาธารณสุขรับไม่ไหว เตียงไม่เพียงพอ แม้ว่าไทยจะเลิกมาตรการล็อกดาวน์แต่ในที่สุดทุกอย่างก็ต้องหยุดก็ไม่ต่างจากล็อกดาวน์อยู่ดี

“ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องตั้งสมาธิในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้มาก โดยมุ่งเน้นใน 2 เรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ 1. ต้องเร่งหาวัคซีนระดมฉีดให้ประชาชน และเป็นวัคซีนที่สามารถรับมือกับสายพันธุ์ไวรัสใหม่ล่าสุดด้วย และ 2. ต้องตรวจเชิงรุกคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาเพื่อนำไปสู่การรักษาโดยเร็ว โดยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชุดตรวจโควิด-19 เร่งด่วน (Rapit Antigent Test kit) ส่วนมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจนั้น ล่าสุดที่รัฐบาลดำเนินการก็ถือเป็นมาตรการที่ดีในการประคองเศรษฐกิจ แต่ระยะต่อไปจำเป็นต้องเตรียมเงินไว้เพื่อดูแลเพิ่มเติมและการฟื้นฟูเพื่ออัดลงระบบเศรษฐกิจต่อเนื่องที่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเห็นว่าในข้อ 1-2 มีความจำเป็นมากสุด เพราะหากควบคุมไม่ได้การดูแลเศรษฐกิจคงทำได้แค่ประคองไม่อาจฟื้นฟูได้เลย” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น