“ส.อ.ท.” ยังกังวลการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้จบแบบเบ็ดเสร็จหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เหตุต้องทำ 2 เรื่องควบคู่กันทั้งการหาผู้ติดเชื้อแบบเข้มข้น และการระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนซึ่งยังคงล่าช้า ผวาลุกลามสู่โรงงานเพิ่มขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของไทยยังมีอัตราสูงระดับกว่า 10,000 คนต่อวัน จึงยังไม่มั่นใจว่าการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดถึง 2 สิงหาคมจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 3 โดยกดตัวเลขของผู้ติดเชื้อลงไปสู่ระดับต่ำกว่า 1,000 คนได้หรือไม่ ซึ่งหากตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลงไปสู่ระดับต่ำได้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการล็อกดาวน์อาจไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเพราะจำเป็นต้องทำควบคู่กับ 2 เรื่อง คือ การหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น และการมีวัคซีนในการระดมฉีดให้แก่ประชาชนโดยเร็ว
“เราเองก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ได้แบบจบเบ็ดเสร็จหรือไม่ เพราะปัญหาตอนนี้คือ ความไม่พร้อมของวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชาติ ความล่าช้าในการตรวจเชิงรุกซึ่งแม้ว่ารัฐจะส่งเสริมให้มีการใช้ Antigen Test Kit แล้วก็ตาม อีกทั้งโรงพยาบาลก็ใช้จนเต็มศักยภาพแล้ว” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถกดตัวเลขให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะลามเข้ามาในโรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาดมากขึ้น แม้จะมีมาตรการป้องกันและรับมือเป็นอย่างดี และเข้มขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ทุกขณะนี้ก็เห็นว่ามีหลายโรงงานเริ่มมีพนักงานติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเชื้อกลายพันธุ์แรง ติดง่าย และพนักงานยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนยังคงมีจำนวนมาก
นายสุพันธุ์กล่าวว่า ภาวะที่ยากลำบากของภาคธุรกิจและประชาชนคนไทยในขณะนี้ถือว่าเป็นผลกระทบที่ไม่เคยเจอมาก่อน หลายบริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการทั้งถาวรและชั่วคราว ก็คงไม่สามารถจ่ายภาษีโดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตรงตามเวลา หรือบางบริษัทก็จ่ายภาษีไม่ได้ อีกทั้งยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน เพราะไทยมีแค่การส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าโดยขณะนี้บริษัทที่มีกิจการขนาดใหญ่ต่างปรับลดงบต่างๆ ลงในช่วงโควิด-19 นับจากการระบาดรอบที่ 2 เป็นต้นมา เพราะหลายๆ บริษัทได้รับผลกระทบ รายได้ ยอดขายต่างปรับลดลง
“รัฐบาลควรจะปรับโครงสร้างด้านภาษีใหม่ เน้นทำช่วงหลังโควิด-19 ใกล้จบลง สิ่งแรกคือเอาพวกวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs ทั้งหลายกว่า 3 ล้านรายที่ยังไม่ยอมเข้าระบบมาอยู่ในระบบให้หมด ตอนนี้มี SMEs น้อยมากๆ ที่เข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานบัญชีเดียวเพื่อทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ โดยต้องยื่นคำร้องขอจดแจ้งบัญชีชุดเดียวต่อกรมสรรพากรเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการยกเว้นและลดอัตราภาษี” นายสุพันธุ์กล่าว
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคส่งออกนับเป็นภาคหลักเดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องระวังขณะนี้คือต้องไม่ให้การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ลามไปยังโรงงานที่เกี่ยวข้องหากไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการเองก็มีความเข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงการส่งออกไทยก็ยังมีอยู่ ทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ค่าระวางเรือ (เฟด) ที่สูงขึ้นมากจนทำให้สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยต้นทุนสูงเมื่อส่งออกเริ่มไม่คุ้มทุน รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้น เช่น กระป๋อง
“ส่งออกปีนี้ถือว่ายังคงขยายตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้สต๊อกที่มีอยู่เริ่มหมดลงและมีการสั่งซื้อกลับมาต่อเนื่อง แต่เราเองก็ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะโควิด-19 หลายๆประเทศก็เริ่มกลับมา” นายวิศิษฐ์กล่าว