ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มการส่งออกยังเติบโตดีแม้อาจชะลอลงบ้าง โดยมูลค่าส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี อยู่ที่ 23.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 ที่ 43.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ มูลค่าส่งออกเดือนนี้ยังขยายตัวได้ 41.6% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ยังเติบโตกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะและอุปกรณ์ (+79.2%) ผลิตภัณฑ์เคมี (+59.8%) ผลิตภัณฑ์เกษตร (+59.8%) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (+39.8%)
นอกจากนี้ นโยบายการทำงานจากที่บ้านยังหนุนการขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า (+42.3%) และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+24.0%) อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังคงหดตัวอยู่ เช่น ข้าว จากปัจจัยการแข่งขันทางราคา รวมถึงสินค้าปศุสัตว์และอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ด้านตลาดส่งออกพบว่าในเกือบทุกตลาดสำคัญขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและจีนที่เติบโตดีขึ้น
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนถือว่าใกล้เคียงกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24.2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี วิจัยกรุงศรีคาดการเติบโตของการส่งออกอาจไม่แข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ถึง 15.5% YoY เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนทยอยลดลง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อบางภาคของอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงต้นไตรมาส 3/2564 ทั้งจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น และภาวะการขาดแคลนแรงงานในบางสาขา อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเลข 2 หลักในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวดีของเศรษฐกิจโลกนำโดยประเทศแกนหลัก การทยอยเปิดประเทศและการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่คั่งค้างจากช่วงก่อน ภาคบริการที่เริ่มกลับมาดำเนินการได้ รวมถึงการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเหล่านี้ ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในหลายประเทศ ปัจจัยข้างต้นดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก
ดังนั้น วิจัยกรุงศรีจึงคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตดีขึ้นเป็น 13.5% บนฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ (หรือ +15.0% ฐานข้อมูล ธปท.) เทียบกับ 9.0% ที่เคยคาดการณ์ในครั้งก่อน พร้อมกันนั้น ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดรอบนี้จากสายพันธุ์เดลตา ภายใต้สมมติฐานประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 60% ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดต่ำกว่า 1,000 ภายในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนมาตรการควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยประเมินว่าจะมีผลกระทบราว 70% ของช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน 2563 ผลเชิงลบโดยรวมที่เกิดจากการหยุดชะงักของอุปทาน การลดลงของอุปสงค์ และกิจกรรมท่องเที่ยวอ่อนแอลง ฉุด GDP ปีนี้ลดลง 2.0% อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยบวกจากการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่งในปีนี้จะช่วยหนุน GDP ได้ +0.6% รวมถึงมาตรการเยียวยาของรัฐซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่มเติมในปีนี้ราว 1 แสนล้านบาท จะหนุน GDPได้อีก +0.6% ดังนั้น ผลกระทบสุทธิต่อการเติบโตของ GDP ในปีนี้โดยรวมแล้วจึงคาดว่าจะะลดลงจากคาดการณ์เดิม -0.8% วิจัยกรุงศรีจึงปรับลดตาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือเติบโต 1.2% (จากเดิมคาด 2.0%)
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินการระบาดระลอกล่าสุดกระทบ GDP 0.8-2% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของวิจัยกรุงศรี โดย ธปท.ระบุการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลตาทำให้การติดเชื้อรุนแรงและลากยาวกว่าที่คาด เป็นผลให้ทางการต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดย ธปท.ประเมินจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 หายไป 0.8% ในกรณีสามารถควบคุมการระบาดได้ในช่วงเดือนสิงหาคม แต่หากไม่สามารถคุมได้ทำให้การระบาดยืดเยื้อถึงสิ้นปี GDP จะหายไป 2.0% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าว ธปท.ชี้ว่ายังไม่สามารถนำไปหักลบกับการคาดการณ์ GDP ที่คาดไว้ที่ 1.8% เมื่อเดือนมิถุนายน เนื่องจากยังไม่ได้รวมผลของปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง