xs
xsm
sm
md
lg

ช้ำ! ช้างป่าแก่งกระจานบุกสวนมะละกอเสียหายนับ 100 ต้น ขณะที่พลายบุญมี บุกบ้านป้ากล้วยทอดอีกรอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บุกสวนมะละกอของชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ เสียหายกว่า 100 ต้น ส่วนที่บ้านของแม่ค้ากล้วยทอด พบพลายบุญมี บุกเข้ามาอีกรอบ รื้อตู้เย็น เครื่องซักผ้า พังประตูห้องน้ำจนเสียหายเพิ่มเติมอีก ขณะที่ทหารช่างเข้าซ่อมบ้านแล้ว

นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผช.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วย พ.ต.ท.สุวิทย์ มณีวงษ์ ผบ.ร้อย กองกำกับการ 1 ตชด.ค่ายนเรศวร ชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ 712 นายประทีป กุ้งวงตาล ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกัน องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนลงพื้นที่ สำรวจความเสียหายสวนมะละกอของนายทวัฒน์ พูลผล อายุ 52 ปี เกษตรกรหมู่ 5 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากได้รับแจ้งว่า สวนมะละกอของตนเองถูกช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บุกเข้ามาทำลาย โค่นต้นมะละกอติดต่อกัน 4 วัน จนต้นมะละกอที่กำลังออกลูกเตรียมเก็บเกี่ยวส่งขายเสียหายอย่างหนักกว่า 100 ต้น

นายทวัฒน์ พูลผล เกษตรกรหมู่ 5 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ พาเจ้าหน้าที่สำรวจสภาพความเสียหายภายสวนมะละกอ 8 ไร่ พบว่า ต้นมะละกอที่กำลังออกลูกต้นละ 10-20 ลูก กำลังโตเต็มวัยพร้อมเก็บเกี่ยวส่งขาย ถูกช้างป่าบุกเข้ามาโค่นทำลาย และกินผลผลิตบางส่วน มีผลมะละกอหล่นกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า พฤติกรรมช้างป่าที่เข้ามาส่วนใหญ่จะโค่นต้นมากกว่ากัดกินผลผลิต ซึ่งค่าเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ จากการสำรวจร่องรอยเท้าช้างที่ปรากฏอยู่ในสวน ผช.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุว่า น่าจะเป็นช้างป่าเพศผู้ขนาดใหญ่ และช้างป่าตัวเล็กประมาณ 2-3 ตัว

ด้านนายประทีป กุ้งวงตาล ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกัน องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จากการสำรวจพบว่า มีต้นมะละกอเสียหายทั้งหมด 102 ต้น ส่วนใหญ่ต้นหักโค่น ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อรับแจ้งแล้วจะออกสำรวจเก็บข้อมูล รายงานให้นายก อบต.ได้รับทราบและทำรายงานเพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน มีนายก อบต. หรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายก ท้องถิ่นอำเภอ ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากอำเภอ ซึ่งใช้งบประมาณของ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ที่ผ่านมา จากข้อมูลพบว่าในเดือนกรกฎาคม มีรายงานช้างป่าบุกกักกินพืชเกษตรของชาวบ้าน ตลอดจนทำลายทรัพย์สินชาวบ้านเสียหายเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของรายล่าสุดซึ่งเป็นแม่ค้ากล้วยทอด ได้พิจารณาและอนุมัติเงินจัดซื้ออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างไปแล้วจำนวน 8,500 บาท

ส่วนความคืบหน้ากรณีช้างป่าเจ้าประจำ คือ พลายบุญมี บุกเข้าไปทำลายข้าวของบ้านของนางสุภา แตงทอง หรือป้าใหญ่ อายุ 58 ปี อาชีพแม่ค้าขายกล้วยทอดป่าละอู บ้านเลขที่ 155 หมู่ 1 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อหาของกิน สร้างความเสียหายประตูเหล็กม้วนพัง กล้วย มะพร้าว น้ำมันที่เตรียมไว้ขายกล้วยทอดถูกพลายบุญมีขโมยไปกินจนเกลี้ยง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นนับสิบครั้ง อยู่ระหว่างรอการเยียวยาแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ค.) พลายบุญมี ได้กลับเข้ามาบุกบ้านของนางสุภา อีกรอบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนไล่ช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลับไปแล้ว แม้จะพยายามจุดประทัดไล่แต่ก็ไม่เป็นผล พลายบุญมี บุกเข้ามาในบ้าน ใช้งวงรื้อทำลายข้าวของเพื่อหาของกิน จนเดินเข้าไปในครัวพบกล้วยวางอยู่คว้าไปกินจนหมด แถมยังทำลายตู้เย็น เครื่องซักผ้าเก่า และพังประตูห้องน้ำ ประมาณเกือบครึ่งชั่วโมงจึงยอมเดินออกไป ทำให้วันนี้ตนเองจึงไม่เหลือวัตถุดิบที่จะนำไปทำกล้วยทอดขายเลี้ยงชีพ และเงินทุนก็หมดไม่รู้จะทำอย่างไร

ขณะเดียวกัน วันนี้ ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ตำรวจพลร่มชุดพัฒนาการ 712 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และทีมช่างจาก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กว่า 20 คน ได้ระดมกำลังกันมาช่วยซ่อมแซมบ้านของนางสุภา ที่ได้รับความเสียหายจากช้างป่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น สร้างความดีใจให้นางสุภา เป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันก่อกำแพงติดตั้งประตูบานพับ แทนประตูเหล็กม้วนทั้ง 2 บานหน้าบ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ โดยในคืนนี้จะต้องช่วยกันระวังไม่ให้ช้างป่าบุกเข้าทำลายกำแพงที่ยังสร้างไม่เสร็จ

นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผช.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนขับไล่เฝ้าระวังช้างป่าที่ออกหากินตั้งแต่ช่วงเย็น ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางคืน แต่ด้วยพื้นที่ซึ่งช้างที่กระจายออกหากินมีหลายจุด ดังนั้น จึงทำให้บางครั้งยังคงมีช้างป่าออกมาสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน ตลอดพืชผลทางการเกษตร โดยสาเหตุหนึ่งช้างป่าที่เข้ามาในพื้นที่เนื่องจากแนวรั้วกันช้างกึ่งถาวร ของทางภาครัฐที่ทำไว้ได้รับความเสียมานานมากแล้ว และไม่มีการซ่อมแซม ส่วนการช่วยเหลือเยียวยานั้นยอมรับว่ายังไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือเยียวยาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช










กำลังโหลดความคิดเห็น