กรมอุทยานฯ แจง ทำไมถึงห้ามทำอาหารมีควัน-กลิ่นที่จุดกางเต็นท์-ที่พัก ในอุทยานแห่งชาติ หลังออกประกาศห้ามแล้วมีชาวเน็ตดราม่า ทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย
หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกประกาศ เรื่องการงดประกอบอาหารทุกประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวน ในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ
โดยเหตุผลของการออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากการประกอบอาหารประเกทนี้ก่อให้เกิดมลภาวะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พัก เนื่องจากได้กลิ่นอาหารและมาทำลายทรัพย์สิน หรืออาจทำอันตรายแก่นักท่องเที่ยวให้ใด้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้
เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสดราม่าของชาวเน็ตขึ้นในโลกโซเชียล โดยมีทั้งฝั่งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ล่าสุด นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาเปิดเผย และชี้แจงรายละเอียดของการห้ามทำอาหารมีควัน-กลิ่นที่จุดกางเต็นท์-ที่พัก ในอุทยานแห่งชาติ ผ่าน เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนี้
Q : ทำไมไม่ให้ประกอบอาหารในอุทยานแห่งชาติ
A : จากการเก็บข้อมูลมาสำหรับกิจกรรมในลานกางเต็นท์ โดยเฉพาะการปรุงอาหารหน้าเต็นท์ จะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ สมมติว่าลานกางเต็นท์ที่หนึ่งสามารถกางเต็นท์ได้ 400 หลัง และทุกหลังได้มีการปรุงอาหารที่มีควันและกลิ่น จะถือว่ามีครัวเคลื่อนที่ถึง 400 ครัวเลย และนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่เข้ามาใช้พื้นที่พักผ่อนในอุทยานฯ ย่อมต้องการธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์ แต่หากมีการทำครัวเช่นนี้ก็จะส่งผลกระทบได้
นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีของที่อุทยานเขาใหญ่ ที่มีช้างป่าบุกเข้ามาที่ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ เพราะได้กลิ่นอาหารจึงส่งผลให้เข้ามาทำร้ายนักท่องเที่ยว
รวมถึงเรื่องของการจัดการขยะอีกด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ก็มีการเก็บขยะกลับไปด้วย แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ทิ้งภาระตรงนี้ให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีจำนวนไม่มาก และไม่ได้มีหน้าที่ดูแลในเรื่องของท่องเที่ยวอย่างเดียว ยังมีหน้าที่ต้องคอยคุ้มครองพื้นที่ เดินลาดตระเวนไม่ให้มีภัยคุกคามเข้ามาในอุทยานฯ ถ้ามีร้านสวัสดิการหรือว่าร้านของพี่น้องประชาชนที่เข้ามาเช่าพื้นที่อุทยานฯ เพื่อปรุงอาหารให้นักท่องเที่ยวให้อยู่ในที่ที่เดียว การบริหารจัดการก็จะง่ายขึ้น
Q : นักท่องเที่ยวเตรียมตัวอย่างไร ถ้าไม่ให้ประกอบอาหาร
A : ถ้าอุทยานฯ ไหนมีความพร้อมจะให้มีร้านค้าสวัสดิการ โดยร้านค้าสวัสดิการนี้จะให้เจ้าหน้าที่เข้ามาถือหุ้นกัน เมื่อได้ผลกำไรมาก็จะมาปันหุ้นกลายเป็นรายได้ให้กับเจ้าหน้าที่ในอุทยานฯ ในทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเป็นรายได้เสริมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ได้
หรือถ้าอุทยานฯ ไหนยังไม่มีความพร้อม ก็จะมีวิธีที่สองคือให้เอกชนหรือก็คือชาวบ้านมาเช่าเพื่อบริการนักท่องเที่ยว แต่ถ้าทั้งสองวิธียังไม่พร้อมอีกก็จะมีวิธีที่สามคือ อุทยานฯ จะต้องหาโซนกลางที่เป็นพื้นที่ว่าง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาปรุงอาหาร ปรุงให้เสร็จแล้วค่อยถือเข้าไปกินในลานกางเต็นท์ หรือใช้วิธีการซื้อเป็นกับข้าวสำเร็จเข้ามากินแทนเพื่อลดการปรุงอาหารที่มีควันกลิ่น แต่ไม่ใช่ให้งดการปรุงทุกอย่าง อย่าง ต้มมาม่า ยำปลากระป๋อง ยังสามารถทำได้อยู่
Q : กรณีระบุว่า ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ จะเอื้อประโยชน์กับเอกชนหรือไม่
A : เอกชนที่ลงในประกาศที่ว่า เรียนตามตรงก็คือ พี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้ๆ รอบอุทยานฯ ซึ่งในภาวะสถานการณ์โควิดเช่นนี้ทำให้พวกเขาหลายคนตกงาน เขาจึงต้องเข้ามายื่นขออนุญาตทำเรื่องกับอุทยานฯ ซึ่งทางเราก็มีการเก็บค่าทำเนียมที่ไม่แพง เพื่อเข้ามาประกอบอาหารบริการนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรายได้ ไม่ใช่เอกชนรายใหญ่เหมือนที่เข้าใจกัน ซึ่งราคาที่พี่น้องประชาชนเอาเข้ามาขายในอุทยานฯ นั้น ทางเราก็มีการควบคุมให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นราคาที่พวกเขาตั้งขึ้นมาเอง
Q : การท่องเที่ยวยุคใหม่ อยากให้เป็นอย่างไร
A : เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อนท่องเที่ยวเต็นท์ข้างเคียงด้วย อุทยานฯ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อหาเงินรายได้ แต่ต้องการให้พี่น้องประชาชนเข้ามาเสพธรรมชาติอย่างแท้จริง ก็คือการเสพธรรมชาติที่ไม่มีผลกระทบตามที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังให้ข้อคิดทิ้งท้ายสำหรับการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติว่า
“การท่องเที่ยวก็ต้องเข้าใจธรรมชาติ ท่องเที่ยววิถีใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”