หลังกรมอุทยานฯ สั่งงดประกอบอาหารมีควันกลิ่นรบกวน ในพื้นที่กางเต็นท์-ที่พักในอุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดกระแสดราม่าในโลกโซเชียลที่มีทั้งคนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งกระแสดราม่าในโลกโซเชียล หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกประกาศ เรื่องการงดประกอบอาหารทุกประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวน ในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ
โดยเหตุผลของการออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากการประกอบอาหารประเกทนี้ก่อให้เกิดมลภาวะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พัก เนื่องจากได้กลิ่นอาหารและมาทำลายทรัพย์สิน หรืออาจทำอันตรายแก่นักท่องเที่ยวให้ใด้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้หลังการออกประกาศดังกล่าว ได้เกิดมีกระแสถกเถียงกันอย่างกว้างขวางของชาวเน็ตในโลกโซเชียล ที่มีทั้งเห็นด้วย-และไม่เห็นด้วย รวมถึงมีคำแนะนำในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อข้อกำหนดดังกล่าว
สำหรับประกาศดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
ด้วยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแนวทางงดการประกอบอาหารทุกประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวน บริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากการประกอบอาหารประเภทนี้ก่อให้เกิดมสภาวะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พัก เนื่องจากได้กลิ่นอาหารและมาทำลายทรัพย์สินหรืออาจทำอันตรายแก่นักท่องเที่ยวให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเพื่อให้การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 8 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2563 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ม2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโตยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 จึงออกประกาศ ดังนี้
งดประกอบอาหารทุกประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวน บริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พัก ในอุทยานแห่งชาติ ยกเว้น ชงชา – กาแฟ ต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น โดยอุทยานแห่งชาติได้จัดให้มีร้านค้าสวัสดิการ พื้นที่ประกอบอาหาร จัดพื้นที่ให้เอกชนหรือชุมชนท้องถิ่นเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายอาหารในช่วงเทศกาลต่างๆ และแนวทางอื่นๆ ภายใต้การควบคุมของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
ลงนามโดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สำหรับตัวอย่างของชาวเน็ตที่แสดงความ “ไม่เห็นด้วย” ต่อประกาศดังกล่าว มีดังนี้
-พวกคุณที่มีอำนาจนี้.... ไม่เข้าใจจิตวิญญาณของการกางเต๊นท์พักค้างแรมของครอบครัวประชาชนคนไทยเลยจริงๆๆๆ..... ว่ามันคือความสุขสันต์ของครอบครัวทำอารร่วมกันพูดคุยหยอกล้อและประหยัดค่าใช้จ่าย.... ถ้ามันจำเป็นก็แค่บาง อช. ไม่ใช่เหมากันทั้งประเทศ... อีกอย่างคุณได้สอบถามประชาชนคนไทยที่ไปกางเต้นท์พักแรมส่วนใหญ่แล้วยังว่ามันใช่คำตอบมั่ย..
ปล.
อีกอย่างร้านสวัสดิการบางแห่งทำอาหารรสชาติหมาไม่แดกและแพงด้วย...นึกๆดูครอบครัวไปกัน 5 คน กินอาหารร้านสวัสดิการมื้อละ 600 ถึง 800 5วันปาเข้าไปเป็นหมื่นๆๆมันใช่รึ...
-เราว่าควรให้ทำได้ แต่ไม่ควรให้มีร่อยรอยของการเผาไหม้หรือการใช้เตาเกิดขึ้น หลายๆประเทศเค้ามีข้อห้ามนี้นะคะ น่าจะไปทบทวนกันให้ดีดี
-ควรพิจารณาแต่ละที่ และแก้ปัญหาให้ถูกจุด ทำไมไม่ทำลานกางเต็นท์แยกโซนแทน โซนที่คนชอบไม่ทำอาหาร ก็ไปอยู่อีกโซน อีกโซนทำอาหารก็ว่ากันไป ตอนนี้อุทยานควรแก้ปัญหาเรื่องเสียงดังมากกว่า บางคนเขาอยากทำอาหารแต่เขามีจิตสำนึกก็มี บอกมีปัญหาขยะ ก่อนเข้าก็แจกถุงขยะเลย ก็เงินค่าเข้ารายคนแถมคิดยันรถ ถุงใบไม่กี่บาทแล้วก็ยึดบัตรประชาชน ก่อนออกก็ตรวจถุงขยะพกออกมาไหม แล้วเอาเอกชนมาขายของ คิดหรอว่าจะราคาปกติ ในเมื่อทำอาหารไม่ได้ แล้วก็ไปห้ามบนภูกระดึงด้วยนะ ร้านหมูกระทะเอกชนบานเลย กวางกินถุงเข้าไป ทั้งที่คนขึ้นไปก็ทำอาหารไม่ได้ แล้วขยะมันมาจากไหน
-ดีครับ ผมจะได้ไปเอกชน
คนออกกฎไม่ได้อยู่ คนอยู่ไม่ได้ออกกฎ
มันควรออกกฎตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่บังคับใช้แบบเดียวกันทั้งหมด
การค้างแรมในอุทยานฯ บางจุดห่างไกล บางจุดติดเมือง การประกอบอาหาร มันคือส่วนนึงของกิจกรรมในการกางเต็นท์
หากไม่มีในส่วนนี้ ถ้าทางอุทยานจะมี (จะมี) การขายอาหารภายในอุทยานฯ ก็ควรจะมี (ควรมี) ความพร้อม และความหลากหลายในการขาย เมนูต่างๆ หรือแม้แต่โรงอาหาร ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยว และราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
ในอนาคตหากรายได้อุทยานจะลดน้อยลง ไม่ได้เป็นเพราะนักท่องเที่ยว ไม่ให้ความสำคัญ หรืออุดหนุนภาครัฐ แต่เป็นเพราะกฎบ้าๆ บอๆ ที่ชอบออกมากันอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้คำนึงหรือปรับเปลี่ยนตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
-ถ้าแบบนี้ พื้นที่ทำอาหารก็กรุณาจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก พวกโต๊ะวางวัตถุดิบโต๊ะวางเตา เก้าอี้นั่งทำอาหาร ให้มันเพียงพอกับนักท่องเที่ยวด้วยละกัน ผมเป็นคนที่ชอบเที่ยวอช.มาก เก็บตราประทับ แต่จะให้มายกโต๊ะยกเก้าอี้จากเต้นท์ ไปพื้นที่ทำอาหารเสร็จต้องยกโต๊ะยกเก้าอี้ยกอุปกรณ์กลับเต๊นท์อีกก็ไม่ไหวน่าจ๊ะ #ห้ามทำอาหารเพราะกลิ่นและควันรบกวน
#แต่ดันจะตั้งร้านสวัสดิการและยังจะให้เอกชนมาตั้งร้านขายอาหารย้อนแย้งเกินไปไหม???
ในตัวอย่างของชาวเน็ตที่แสดงความ “เห็นด้วย” ต่อประกาศดังกล่าว มีดังนี้
-อุทยานแห่งชาติ เขาก็ออกกฎเพื่อปกป้อง รักษาซึ่งธรรมชาติความ สงบ ความสวยงามเอาไว้ คนเที่ยวอุทยานจริงๆคือคนที่มาเสพธรรมชาติ ไม่ใช่พวกที่ย้ายที่มาแ_กเหล้าทำกับแกล้ม ถ้าอยากแ_กเหล้าทำกับแกล้มเชิญไปที่เอกชนครับ
-มุม1เราก็ว่าดีนะ คนมาเที่ยวจะได้เงินสะพัดบ้างไม่ใช่ขนมาเป็นลำรถ ไม่ซื้อไรจากชาวบ้านหรือพื้นทีเลย. มากิน มาขี้เสร็จกลับ บางคนทิ้งขยะไว้ให้ให้เป็นภาระเจ้าหน้าทีอีก. เหมือนไม่ได้มาเสพธรรมชาติ
เเค่มาเปลี่ยนที่นั่งกินเหล้ามากกว่า
-ผมเห็นด้วยนะ แบบพวกหมูกระทะ ปิ้งย่างที่ควันเยอะๆนั่งกินกันนานๆผมว่ามันรบกวนคนอื่น แต่การประกอบอาหารที่ใช้เวลาไม่นานควรอนุโลมเพราะไม่ใช่ว่าทุกที่จะมีครัวให้สั่งหรือให้ทำ และอย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวก็ต้องกิน
-เรายังไงก็ได้ เคารพกฎทุกอย่าง เพราะเป้าหมายคือไปเสพธรรมชาติ ที่เขาเปิดพื้นที่ให้เราเข้าไปนอน พักผ่อน ดื่มด่ำและหาความสงบกับธรรมชาติให้เต็มที่ และหลายครั้งที่ไปกางเต็นท์ ก็เลือกอุดหนุนร้านชาวบ้านในท้องถิ่น หรือ รอบๆ อุทยานฯ เพื่อกระจายรายได้ให้เขาบ้าง เจอร้านท้องถิ่นอร่อยๆ ด้วย ไม่ต้องเตรียมของเยอะแยะมากมาย ไม่ต้องเก็บล้างวุ่นวาย เราทำแค่เล็กๆ น้อยๆ มาตลอด เลยไม่รู้สึกอะไร เพราะใจความสำคัญมันคืออยู่กับธรรมชาติ ชาร์จพลังให้มากที่สุด
-ทำถูกแล้วครับ ส่วนใหญ่หนีไปเอกชน ผมจะได้กลับไปใช้อุทยาน ไปศึกษาธรรมชาติครับ ไม่ได้ไปฝึกทำกับข้าว อาหารท้องถิ่นผมกินได้ครับ กินง่ายอยู่ง่าย