วันนี้ (21 ก.ค.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดผยว่า กรมอุทยานฯ ร่วมกับกองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ และหมู่บ้านคชานุรักษ์ จ.จันทบุรี จัดทำ โครงการปลูกพืชอาหารช้างโดยเทคนิคโปรยเมล็ดด้วยอากาศยาน เฉลิมพระเกียรติ สนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาช้างป่า มีความตอนหนึ่งว่า “…เนื่องจากมีสัตว์ป่าอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในป่าลึก จึงควรมีการปลูกพืชเสริม เพื่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า โดยทดลองนำพันธุ์พืชขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยในกลางป่าบริเวณต่าง ๆ เพื่อให้เติบโต และเป็นอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งอาจเป็นทฤษฎีใหม่อีกแบบ...” เพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าและช้างเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างอย่างมีสุข ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า โครงการปลูกพืชอาหารช้างโดยเทคนิคโปรยเมล็ดด้วยอากาศยาน เฉลิมพระเกียรติ ครั้งนี้ ดำเนินการในพื้นที่ป่าที่เคยถูกบุกรุกทำลายและได้รับการฟื้นฟูสภาพป่า โดยภารกิจการปลูกและบำรุงป่าได้เสร็จสิ้นการดำเนินการไปเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่พืชที่ปลูกเดิมไม่ใช่พืชอาหารช้าง ทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ตามหลักการจัดการระบบนิเวศสำหรับสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า อีกทั้ง พื้นที่เหล่านี้ ตั้งอยู่ในป่าลึก ไม่มีเส้นทางเข้าถึง ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ จึงเป็นการน้อมรำลึกถึงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกองทัพบก และอ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อเป็นการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าให้ความสมบูรณ์สืบไป
ด้านนายอนุชา กระจายศรี ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2(ศรีราชา) กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้ เดิมมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และขณะนี้เรากำลังเสริมความสมบูรณ์ของป่าเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า เพื่อดึงให้ช้างกลับเข้าไปอยู่ในป่า เพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน การดำเนินการครั้งนี้ ใช้เมล็ดพืชอาหารช้าง จำนวน 69 ชนิด รวมประมาณ 6 ล้านเมล็ด โดยได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากกองทัพบก ถึงแม้ว่า กว่าต้นไม้จะเติบโต ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี หรือ 10 ปี แต่ก็ต้องเริ่มทำ