ราชบุรี - เปิดใจหนุ่มราชบุรีจ่าย 1 ล้านบาท ซื้อกล้วยด่างพันธุ์ “แดงอินโด” หลังมีกระแสปั่นราคา จัดฉาก และ "โง่" เผยเพื่อนำมาวิจัยและขยายเพาะพันธุ์ส่งมอบสู่ชุมชนในเครือข่าย “ตานีแบรนด์” เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ OTOP KBO CONTEST 2019 และได้รับเลือกเป็นของที่ระลึกให้ผู้นำอาเซียนมาแล้ว
จากกรณี นายสุธาร สิทธิธัญญาการ ชาว กทม. ได้ขับรถนำกล้วยด่างสายพันธุ์ “แดงอินโด” มาส่งให้ นายธนกร สดใส ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี อยู่เลขที่ 85 หมู่ 6 ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยได้ตกลงซื้อขายกันในราคา 1 ชุด 1 ล้านบาท ประกอบด้วย กล้วยด่างสายพันธุ์แดงอินโด ต้นแม่ 1 ต้น พร้อมหน่อกล้วย 1 หน่อ และ ต้นเล็ก 1 ต้น รวม 1 ชุด ราคา 1 ล้านบาท ซึ่งทั้งชุดเป็นสายพันธุ์เดียวกัน
นายสุธาร สิทธิธัญญาการ ผู้ขายกล่าวว่า ตนได้นำกล้วยด่างสายพันธุ์แดงอินโดเอามาส่งให้ลูกค้าที่ จ.ราชบุรี ขายให้ 1 ชุด ในราคา 1 ล้านบาท ซึ่งทั้งชุดเป็นสายพันธุ์และลายเดียวกันทั้งหมด ซึ่งสายพันธุ์แดงอินโดจะมีราคาขึ้นอยู่กับความสวย และลายของใบ โดยต้นที่นำมาส่งมอบให้ลูกค้ามีรายละเอียดที่ใบ โดยต้นแม่พร้อมหน่อ 1 หน่อ ขายอยู่ที่ราคา 7 แสนบาท ส่วนต้นเล็กขายอยู่ในราคา 3 แสนบาท ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองได้มีการเพาะพันธุ์กล้วยด่างสายพันธุ์แดงอินโด และก่อนหน้านี้ เคยขายมาแล้ว 4 ต้น ต้นละ 1 ล้านบาท ซึ่งตนเองจะเป็นที่รู้จักกันดีในวงการกล้วยด่าง
ขณะเดียวกัน หลังมีกระแสของการซื้อขายกล้วยด่างสายพันธุ์ “แดงอินโด” ระหว่าง นายสุธาร สิทธิธัญญาการ และนายธนกร สดใส ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี จนมีบรรดาโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ถึงการซื้อขายนี้ว่าเป็นการจัดฉาก ปั่นราคา และถึงขั้นหาว่า "โง่"
ทำให้ นายธนกร สดใส ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ผู้ซื้อกล้วยด่างสายพันธุ์แดงอินโด โดยได้เปิดใจกับทางผู้สื่อข่าวว่า ตนได้เปิดวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ในการนำส่วนต่างๆ ของกล้วยมาผลิตเป็นกระเป๋าแฟชั่นหลากหลายแบบ ภายใต้แบรนด์ “ตานีแบรนด์” โดยปี 2562 ผลิตภัณฑ์ของตนได้รับรางวัลชนะเลิศ OTOP KBO CONTEST 2019 จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จนได้รับคัดเลือกให้เป็นของที่ระลึกในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยมอบผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากกาบกล้วย ให้ผู้นำการประชุมอาเซียน 35 TH ASEAN SUMMIT 2019
"ส่วนการที่ตนได้ซื้อกล้วยด่างสายพันธุ์ “แดงอินโด” 1 ชุด ราคา 1 ล้านบาทมานั้นเพื่อนำมาวิจัยและเพื่อการขยายเพาะพันธุ์ส่งมอบสู่ชุมชนในเครือข่าย “ตานีแบรนด์” ให้เป็นราคาที่จับต้องได้ วันนี้เราได้ลงทุน 1 ล้านบาท แต่อนาคตมันออกลูกออกหลาน สามารถแบ่งไปที่ชุมชนให้ชุมชนได้ครอบครอง แล้วนำไปปลูกส่งกลับมาให้เราแปรรูปแบบธุรกิจหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันที่เราทำอยู่แล้วของตานีแบรนด์ แล้วเอาต้นไปทำเป็นทดแทนหนังคือเป็นกาบกล้วยเสมือนหนัง ขณะนี้เรากำลังวิจัยอยู่เป็นใบกล้วยเสมือนหนัง ซึ่งสามารถทำได้แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยอยู่เพื่อเอามาทดลองแล้วทำให้มันใช้งานได้จริง"
นายธนกร กล่าวอีกว่า "ใบกล้วยทดแทนหนัง" มีอีกหลายสายพันธุ์ที่มีลวดลายสวยงามแบบนี้ สามารถเอามาต่อยอดแล้วก็สร้างมูลค่าให้ตัวของต้นกล้วย จากล้านอาจจะเป็นหลายๆ ล้านตามมาก็ได้ เพราะทุกอย่างมันไม่ได้แค่ต้นกล้วยมันมากกว่ากล้วย ที่เรามาสร้างสรรค์กันในชุมชนของ ต.เจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี ส่วนกล้วยด่างที่ซื้อมาเป็นต้นแม่ 1 ต้น พร้อมหน่อกล้วย 1 หน่อ และต้นเล็ก 1 ต้น รวม 1 ชุด ราคา 1 ล้านบาท แต่ต้นเล็กตนได้ขายไปแล้วในราคา 350,000 บาท ส่วนต้นแม่ตนไม่ขายเพราะตั้งใจซื้อมาวิจัยและเพาะพันธุ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในชุมชน
ถ้าทุกคนได้ศึกษาคำว่า “Circular-Economy” คือธุรกิจหมุนเวียน เป็นการหมุนเวียนสิ่งที่เรามีในชุมชน เป็นวัตถุดิบ มาทำเป็นตัวนวัตกรรมเทคโนโลยีแฟชั่นให้มันมีคุณค่า มีอัตลักษณ์ในตำบล ซึ่ง ต.เจ็ดเสมียน เป็นตำบลกล้วยๆไปแล้ว เพราะมีการปลูกกล้วยหลายสายพันธุ์เอาไว้เพื่อเอามาทำ "ตานีแบรนด์" หรือเป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากต้นกล้วย ตั้งแต่ยอดจดโคน และการลงทุน 1 ล้านบาท ตนไม่ได้ลงทุนคนเดียว ตนรวบรวมเงินจากชุมชนวิสาหกิจชุมชน และมีการประชุมกันจนมีมติให้ซื้อต้นกล้วยด่างนี้มาเป็นการต่อยอดของชุมชนวิสาหกิจ และตานีแบรนด์
"ต่อไปพื้นที่ตรงนี้ตนตั้งใจจะเปิดเป็น knowledge village หรือเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งสามารถเข้ามาศึกษาสายพันธุ์กล้วย ตั้งแต่สายพันธุ์โบราณ สายพันธุ์ไม้ด่าง กล้วยด่างทั้งหมด เราจะรวบรวมสายพันธุ์กล้วยให้มากที่สุด และนำสายพันธุ์ต่างๆ มาวิจัยและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกล้วย ตอบโจทย์ปัจจัย 4 เพื่อสร้างปัจจัย 5 นี่คือสิ่งที่ตามมาใน "ตานีแบรนด์" ได้สร้างสรรค์และวิจัยคิดค้นเอาไว้ และนี่คือเหตุผลที่ตนได้สั่งซื้อกล้วยด่างสายพันธุ์ “แดงอินโด” ในราคา 1 ล้าน ซึ่งไม่ได้มีการสร้างกระแส หรือมาปั่นราคาแต่อย่างใด