ปรับโครงการรอบสอง “โคกหนองนา โมเดล” แผนเงินกู้โควิด 4.7 พันล้าน ได้ไปต่อ! ขยายเวลายาว ถึง 31 ธ.ค. 64 “กรมพัฒนาชุมชน” แจงปัญหาโควิดระบาด ทำหน่วยงาน-ผู้ร่วมโครงการ ได้เงินช้า 2 เดือน ส่วนปัญหาเชิงลึกพบ ผู้ร่วมโครงการบางราย “ไม่ยอมให้ใช้ที่ดิน-ไม่ยอมให้ขุดสระ” เหตุไม่อบยกเสียพื้นที่ ส่วนบางพื้นที่ ต้องปรับใหม่หมด ให้ตรงกับมาตรฐาน พบ “เกษตรกร” ขอถอนตัวแค่ 2,785 ราย แต่มีพื้นที่สำรองทดแทนแล้ว 11,758 ราย
วันนี้ (28 มิ.ย. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เสนอทขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,787 ล้านบาท เป็นครั้งที่ 2
“ให้ขยายระยะเวลาโครงการออกไปจากเดิม สิ้นสุดเดือน ก.ย. 2564 เป็น ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับการดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด โดย พช.ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามกรอบเวลา คือต้องผูกพันสัญญาให้เสร็จภายใน 30 ก.ย. 64 และเบิกจ่ายเงินกู้ให้เสร็จใน 31 ธ.ค. 64 ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนั้น ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบแล้ว”
สำหรับปัญหาที่พบ มีทั้งกรณีการเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบต่อบางกิจกรรมของโครงการ โดยเฉพาะการฝึกอบรมที่จัดขึ้นไม่ได้ อีกทั้งยังเจอเกษตรกรขอถอนตัวไม่ร่วมโครงการ เพราะมีปัญหาทั้งด้านสุขภาพ ความไม่พร้อมของพื้นที่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่นำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว และไม่ต้องการเสียพื้นที่
ให้เปลี่ยนแปลงปริมาตรดินขุด จากที่กำหนดปริมาตรดินขุดของพื้นที่แต่ละขนาดอย่างชัดเจนเป็นไม่เกินปริมาตรดินขุดที่กำหนดไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงและเหมาะสมกับภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่
โดย พช. ได้ให้ข้อมูลว่า ปริมาตรดินขุดจริงของพื้นที่ที่ขุดไปแล้ว ไม่ตรงตามปริมาตรดินขุดและจำนวนเงินจัดสรรที่กำหนดไว้ เนื่องจาก พื้นที่มีแหล่งน้ำ อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ มีภูมิสังคมแตกต่าง และพื้นที่มีการใช้ประโยชน์เดิมอยู่แล้ว จึงไม่สามารถขุดได้ตามปริมาณดินขุดที่กำหนดไว้ซึ่ง
“ทั้งนี้ พช. ยืนยันการดำเนินการยังคงทำให้มีน้ำใช้ และจะเบิกจ่ายตามปริมาณดินที่ขุดได้จริงโดยไม่เกินกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรไปก่อนหน้านี้”
“ยังพบว่า ผู้ร่วมโครงการบางรายไม่ยอมให้ใช้ที่ดิน ไม่ยอมให้ขุดสระเพราะไม่ต้องการเสียพื้นที่ ส่งผลให้มีการขอคืนพื้นที่เป้าหมาย และจำเป็นต้องเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายของโครงการ และบางพื้นที่ไม่สามารถใช้แบบมาตรฐานโคก หนอง นาโมเดลได้ ต้องปรับรูปแบบแปลงใหม่ให้เหมาะกับที่ดิน”
โดยข้อเสนอ ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการใหม่โดยเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป้าหมายของโครงการ พช. ยืนยันว่า พื้นที่สำรองทดแทนพื้นที่ที่ถอนตัวมีเพียงพอ โดยเกษตรกรถอนตัว 2,785 ราย พื้นที่สำรองทดแทน 11,758 ราย และสามารถดำเนินการได้จริงโดยไม่ติดเงื่อนไขใด และยังคงดำเนินการอยู่ภายในพื้นที่ 3,246 ตำบล ซึ่งเป็นตำบลที่เป็นเป้าหมายของ พช.