xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์สุรินทร์เร่งระดมฉีดวัคซีนโรคลัมปีสกิน เผยวัวป่วยทั้งจังหวัดกว่า 3.7 หมื่นตัว ตายแล้ว 1,399 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุรินทร์ - เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เมืองช้างเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินให้วัวของเกษตรกรที่ยังไม่ป่วย ขณะยอดวัวป่วยโรคลัมปีสกินทั้งจังหวัด 37,646 ตัว หายป่วย 2,364 ตัว ตายแล้ว 1,399 ตัว

วันนี้ (6 ก.ค.) ที่ตำบลราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายสัตวแพทย์ จรูญวิทย์ นะพรรัมย์ หัวหน้างานกลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองสุรินทร์ ได้ลงพื้นที่ออกฉีดวัคซีนให้วัวของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลรามและอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เพื่อป้องกันโรคลัมปีสกิน ซึ่งในพื้นที่ตำบลรามมีวัวอยู่ประมาณ 4,600 ตัว เป็นโรคลัมปีสกินจำนวน 460 ตัว และตาย 28 ตัว โดยเจ้าหน้าที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้วัวที่ยังไม่เป็นโรคให้ได้มากที่สุดตามโควตาของสุรินทร์ที่ได้รับมาตอนนี้จำนวน 6,980 โดส ซึ่งยังไม่เพียงพอ และผู้ที่จะนำวัวมาฉีดวัคซีนจะต้องยอมรับเงื่อนไขในเรื่องการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ ห้ามเข้าโรงฆ่าสัตว์ ด้วย โดยมียอดวัวป่วยโรคลัมปีสกินสะสมทั้งจังหวัดจำนวน 37,646 ตัว หายป่วยสะสม 2,364 ตัว ตายสะสมทั้งสิ้น 1,399 ตัว


นายสัตวแพทย์ จรูญวิทย์ นะพรรัมย์ หัวหน้างานกลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ กล่าวว่า ผู้ที่จะนำวัวมาฉีดวัคซีนจะต้องยอมรับเงื่อนไขในเรื่องการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ ห้ามเข้าโรงฆ่าสัตว์ ถ้ารับเงื่อนไขตรงนี้ได้เราจะฉีดให้ เราพยายามค้นหาเกษตรกรที่จะฉีดได้ ต้องบอกก่อนว่าวัคซีนไม่ใช่ยา วัคซีนคือการป้องก้น ถ้าป่วยเป็นโรคแล้วฉีดไปก็ไม่มีประโยชน์ วัวบางตัวที่มีเชื้อแฝงอยู่แล้วเราไม่รู้พอฉีดไปมันก็แสดงอาการออก ซึ่งอาจรุนแรงกว่าเดิมด้วย หากตัวที่ท้องแก่ใกล้คลอดลูกที่ออกมาจะติดไปด้วย

ตอนนี้เจ้าหน้าที่เราเริ่มออกฉีดทุกวัน ตามโควตาที่มีอยู่ของจังหวัดสุรินทร์เราได้โควตาวัคซีนมาจำนวน 6,980 โดส ฉีดได้ 6,980 ตัว แต่ไม่เพียงพอเนื่องจากพื้นที่เราเป็นพื้นที่ที่เกิดโรคแล้ว พยายามฉีดให้วัวที่ยังไม่เป็นโรคก่อน ส่วนวัวที่เป็นถ้าเราฉีดก็จะเป็นปัญหาเพราะมันเป็นวัคซีนเชื้อเป็น

ส่วนวัวที่ตาย เป็นเรื่องของท้องถิ่นที่จะประสานกับทางอำเภอหรือทางปกครองที่จะขอใช้เงินทดรองจ่ายของหน่วยงาน ขั้นตอนก่อนการฝังต้องแจ้งปกครองในท้องที่ อย่างผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือเจ้าหน้าที่ อบต. เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เข้าไปร่วมเป็นพยานถ่ายรูปให้ชัดเจน


นายสัตวแพทย์ จรูญวิทย์กล่าวต่อว่า เรื่องการป้องกัน คือกางมุ้ง ใช้ตาข่ายที่มีตาถี่หน่อยเพื่อป้องกันแมลง หรือใช้ไฟหลอกกันแมลง รวมไปถึงในเรื่องการใช้สารเคมีในการพ่นกำจัดแมลงภายในคอก กรณีวัวยังไม่ป่วยก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่มา ทางปศุสัตว์อำเภอจะได้ประสานเนื่องจากเป็นวัคซีนตัวใหม่ ทางกรมฯ จะต้องให้นายสัตวแพทย์ของสำนักงานเข้าไปร่วมในการดำเนินการฉีดวัคซีนด้วยทุกครั้ง เพราะอาจเกิดอาการแพ้ หรืออาการอะไรขึ้นจะได้แก้ไขได้ทัน

นายพิรุณ แก้วพินึก นายก อบต.ราม กล่าวว่า ตอนนี้ตำบลรามมีวัวป่วยประมาณ 460 กว่าตัว ตายประมาณ 28 ตัว ทั้งตำบลมีวัวอยู่ประมาณ 4,600 ตัว ประสานทางปศุสัตว์ก็ได้แนะนำในเรื่องการใช้ยาในการดูแลรักษาวัวที่ป่วย ส่วนทาง อบต.รามได้จัดหาเวชภัณฑ์แล้วมอบแก่ปศุสัตว์ ให้หมออาสาดำเนินการฉีดวัวให้แก่เกษตรกรที่ป่วย โดยการคิดค่ายาฉีด ค่าบริการให้น้อยลง เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ถือว่าทางปศุสัตว์ทางท้องถิ่นก็ไม่ได้นิ่งดูดายเพื่อยับยั้งโรค

ตอนนี้ถือว่าดีขึ้น ยอดของวัวที่ป่วยเริ่มลดลง หากมีตายชาวบ้านจะแจ้งมาเราก็แนะนำให้ใช้รถแบ็กโฮขุดหลุมฝังกลบ ส่วนการเยียวยาหากมีวัวตายเกิดขึ้นทางผู้นำชุมชน เจ้าของวัวจะถ่ายเก็บภาพไว้ อายุวัวเท่าไหร่ เก็บเอกสารหลักฐานแล้วทำบันทึกให้แก่ทางท้องถิ่นเพื่อพิจารณาเยียวยาช่วยเหลือเป็นขั้นตอนไป ตอนนี้ทาง อบต.รามกำลังปรึกษาหารือกันว่าจะนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัวที่ล้มตายไป เพราะตามระเบียบช่วยได้ไม่เกินตัวละ 2 หมื่นบาท และช่วยได้ตามอายุวัว ดูตามความเหมาะสม ตามสถานะของการคลังท้องถิ่น


ด้าน นายจำลอง ผูกดวง ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์จนถึงปัจจุบันนี้มีสัตว์เลี้ยงชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคลัมปีสกินสะสมแล้วจำนวน 37,646 ตัว หายป่วยสะสม 2,364 ตัว มีสัตว์ตายสะสมทั้งสิ้น 1,399 ตัว โดยทั่วไปโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสมีแมลงเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นการป้องกันและควบคุมจึงเป็นไปด้วยความลำบาก เกษตรกรควรที่จะควบคุมที่ต้นทางด้วย คือการฉีดยาฆ่าแมลงเพื่อเป็นการกำจัดแมลงในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อป้องกันพาหะนำเชื้อโรคเข้ามา ซึ่งจังหวัดสุรินทร์พบการแพร่กระจายไปแล้วทั้ง 17 อำเภอ

ในขณะที่แนวทางควบคุมการป้องกันโรค ทางปศุสัตว์ก็มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปดูแลรักษาโรคให้พี่น้องเกษตรอย่างเต็มที่ โดยท้องถิ่นได้มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร สำหรับสำนักปศุสัตว์สุรินทร์ได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 6,980 โดส โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนในจุดเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่พบโรคเร่งด่วนแล้ว ซึ่งวัคซีนจะฉีดได้เฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่เป็นโรคและไม่ติดเชื้อเท่านั้น ซึ่งจะมีนายสัตวแพทย์ควบคุมดูแล ประเมินความเสี่ยงด้วยเพื่อไม่ให้พี่น้องเกษตรกรมีความเสี่ยง เพราะบางตัวมีเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ หากฉีดวัคซีนเข้าไปจะเกิดอาการเพิ่มเชื้อขึ้นทันที ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องเกษตรกรและกรมปศุสัตว์ได้


ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หากสัตว์เลี้ยงของท่านตายต้องรีบแจ้งกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยด่วน เพื่อที่จะถ่ายภาพประกอบ ทำการบันทึกประวัติอายุสัตว์เลี้ยงที่ตาย ซึ่งหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามอายุสัตว์ เช่น โคอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะช่วยเหลือได้เป็นจำนวนเงิน 6,000-20,000 บาท กระบือ เกณฑ์ช่วยเหลือตั้งแต่ 8,000-22,000 บาท

เกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือได้ตามขั้นตอน คือเริ่มแรกภายใต้การแนะนำของปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ขอความช่วยเหลือจากท้องถิ่นก่อน หากท้องถิ่นไม่สามารถช่วยได้ให้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งมายังอำเภอ จากนั้นอำเภอจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการช่วยเหลือ จากคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอ หากไม่ได้ก็จะส่งเข้าระดับจังหวัด และหากมีจำนวนมากจังหวัดไม่สามารถช่วยได้ก็จะรวบรวมผ่านอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งไปยังกระทรวงเพื่อพิจารณาช่วยเหลือต่อไป ดังนั้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้นท้องถิ่นสามารถพิจารณาช่วยเหลือได้เลย
















กำลังโหลดความคิดเห็น