กาญจนบุรี - รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกินในโค-กระบือ จ.กาญจน์ พบอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางภาคอีสาน
วันนี้ (14 มิ.ย.) น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางไปฟาร์มโคขุน “น้อยการเกษตร” เลขที่ 57 หมู่ 2 ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อเป็นประธานเปิดโรงการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ ของสถาบันเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี
โดยการลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน ในโค กระบือ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต 3 จ.กาญจนบุรี นายวิวัตห์ชัย พันธุ์วา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร.ท.ทศพล ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายพิชัย ปานแก้ว สหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี นายสัตวแพทย์ มนัส เทพรักษ์ ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี พ.ต.อ.กฤตชัย ทองอยู่ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี นายอนุชา หอยสังข์ นายอำเภอท่ามะกา หัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือให้การต้อนรับ
โดย รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้มอบเวชภัณฑ์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และยากำจัดแมลงดูดเลือดให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 70 ชุด จากนั้นเยี่ยมชมการสาธิตการดูแลฟาร์มเพื่อป้องกันการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี
ทั้งนี้ น ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าโรคลัมปีสกินเป็นโรคอุบัติใหม่ในโค กระบือ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใดได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ทราบจากทางจังหวัดว่า เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการป้องกันที่ดีเนื่องจากมีการป้องการการนำเข้าปศุสัตว์ตามแนวชายแดนได้เป็นอย่างดี ทำให้การแพร่ระบาดนั้นล่าช้าออกไป การควบคุมเมื่อโค กระบือ 1-2 ตัว ติดเชื้อมันทำให้สามารถแพร่เชื้อติดต่อกันได้โดยมีสัตว์ และแมลงประเภทดูดเลือดเป็นพาหนะ เมื่อแมลงไปดูดกินเลือดโคและกระบือตัวอื่นมันจะแพร่เชื้อออกไปบริเวณฟาร์มแห่งนี้ได้ทำการรักษาหายแล้ว
สำหรับโค กระบือที่ป่วยด้วยโรคลัมปีสกินเมื่อได้รับยาแล้วผิวก็กลับมาเป็นปกติเนื่องจากเชื้อไม่ได้ระบาดเข้าไปสู่เนื้อของสัตว์ สำหรับสถานการณ์ระบาดในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีถือว่าระบาดอยู่ในระดับกลาง ที่ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่รุนแรง เหมือนกับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้โรคลัมปีสกินได้ระบาดอยู่ทางภาคอีสานต้องทำการควบคุมเป็นอย่างมากเนื่องจากการระบาดอยู่ในระดับที่รุนแรง และมีโค กระบือเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก บางจังหวัดเสียชีวิตไปกว่า 100 ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดกาญจนบุรีที่มีโค กระบือเสียชีวิตไปแค่ประมาณ 10 ตัว
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เดินทางมาในครั้งนี้เพื่อมาให้กำลังใจกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ พร้อมกับสร้างความมั่นใจว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ทอดทิ้ง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ถามไถ่เรื่องสถานการณ์ของโรคลัมปีสกินที่กำลังระบาดในโค กระบืออยู่ตลอดเวลาเพราะท่านมีความห่วงใยเกษตรกร และยังได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา เวลา 13.00 น. คณะของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปิสกินในโค กระบือ ที่โรงเรียนชาวนากลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย ต.หนองสาหร่าย อ พนมทวนจ.กาญจนบุรี พร้อมกับมอบน้ำยาฆ่าเชื้อและยากำจัดแมลงดูดเลือดให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์อีกจำนวน 20 ชุด
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี มีเกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบือ จำนวน 14,272 ราย มีโค กระบือ จำนวน 319,371 ตัว ข้อมูลวันที่ 10 มิถุนายน 2564 มีจำนวนโคป่วยสะสมด้วยโรคลัมปี สกิน จำนวน 706 ตัว รักษา จำนวน 110 ตัว ในส่วนของอำเภอท่ามะกา ปัจจุบันมีโคป่วยทั้งหมด 87 ตัว และหายป่วยแล้ว 17 ตัว คงเหลือป่วยอยู่ 70 ตัว อำเภอพนมทวน ปัจจุบันมีโคป่วยทั้งหมด 234 ตัว และหายป่วยแล้ว 1 ตัว คงเหลือป่วยอยู่ 233 ตัว