กาญจนบุรี - พ่อเมืองกาญจน์ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดขยายวงกว้าง หลังพบโรคลัมปี สกิน ระบาดในสัตว์ 414 ตัว ใน 5 อำเภอ ด้านปศุสัตว์เร่งรณรงค์ทำความเข้าใจกับเกษตรกร พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อ ส่วนเจ้าของฟาร์มชื่อดัง อ.บ่อพลอย แนะเร่งนำเข้าวัคซีนระดมฉีดให้เร็วที่สุด
วันนี้ (29 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ประกาศจังหวัดกาญจนบุรี เรื่อง กำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกิน (Lumpy skin disease) ในสัตว์ชนิดโคและกระบือ ระบุว่า เนื่องด้วยจังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่ชายแดนติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่องค์การสุขภาพสัตว์โลกแจ้งการเกิดโรคลัมปี สกิน และพบสัตว์ชนิดโคเนื้อและโคนมป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ซึ่งเป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
ประกอบกับในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้พบโรคดังกล่าว โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปยังท้องที่อื่นๆ ได้จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1.ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy sin dsease) ในสัตว์ชนิดโคและกระบือ
และข้อ 2.ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ชนิดโคและกระบือหรือซากสัตว์ดังกล่าวเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ล่าสุด วันนี้ (29 พ.ค.) นายสัตวแพทย์มนัส เทพรักษ์ ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำหรับโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับโค และกระบือเท่านั้น และโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากโค-กระบือสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น
ขณะนี้พบสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย และเป็นโรคระบาดสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พบในสัตว์ชนิดโคเนื้อ โคนม และกระบือ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการของโรคสัตว์ป่วยจะมีไข้สูง เยื่อจมูกเยื่อตาขาวอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เกิดตุ่มกลมนูนเป็นแผลบริเวณผิวหนัง พื้นท้อง หัว คอ ขา เต้านม อัตราการป่วยร้อยละ 5-45 อัตราการตายน้อยกว่าร้อยละ 10
สำหรับในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคนม และกระบือ จำนวน 34,565 ราย ประชากรสัตว์รวม 321,611 ตัว พบสัตว์ป่วย จำนวน 414 ตัว เกษตรกร จำนวน 48 ราย ในพื้นที่อำเภอท่ามะกา อ.ท่าม่วง อ.พนมทวน อ.เลาขวัญ และ อ.ศรีสวัสดิ์ เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง จังหวัดกาญจนบุรีจึงออกประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชนิดลัมปี สกิน ในสัตว์ชนิดโคและกระบือ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา
รวมทั้งดำเนินการควบคุมป้องกันโรค การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การป้องกันกำจัดพาหะนำโรค การรักษาสัตว์ป่วย และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ให้ตื่นตระหนก และการควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการรณรงค์พ่นยาฆ่าเชื้อและกำจัดพาหะนำโรค เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ เพื่อควบคุมและป้องกัน ตลอดจนลดการแพร่ระบาดเชื้อโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ
โดยมีพื้นที่เป้าหมายของการรณรงค์พ่นยาฆ่าเชื้อในครั้งนี้คือ พื้นที่ของอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอพนมทวน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดโรคเป็นลำดับแรก และทุกพื้นที่ต่อไป โดยในการปฏิบัติงานควบคุมโรค จังหวัดกาญจนบุรีได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเวชภัณฑ์ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
ด้านนายทศพล พาณิชย์อำนวยสุข หรือโก้ยุ่ง อายุ 54 ปี เจ้าของทศพลฟาร์ม ฟาร์มวัวบราห์มันพันธุ์แท้ ผลิตวัวบราห์มัน เลขที่ 941/1 ม.1 ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ฟาร์มของตนมีวัวอยู่ประมาณ 140 ตัว และกระบือประมาณ 30 ตัว เราทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าโรคระบาดชนิดลัมปี สกิน ได้เกิดการระบาดขึ้นครั้งแรกที่บ้านดอนแดง ต.แสนสุข อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.64 ที่ผ่านมา หลังจากทราบข่าวฟาร์มของเราก็เริ่มตื่นตัวหาแนวทางในการป้องกันเอาไว้ ด้วยการจัดซื้อน้ำยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง และแมลงวัน เป็นต้น แต่ต้นทุนในการจัดซื้อนั้นค่อนข้างแพง โดย 1 แกลลอนมี 18 ลิตร ราคาสูงถึง 7,500 บาท ซึ่งสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม ทราบว่ากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส และกำลังจัดหาเพิ่มเติม 300,000 โดส ตามที่เป็นข่าว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ขอให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ระดมฉีดวัคซีนให้ได้โดยเร็ว