xs
xsm
sm
md
lg

กลัววัวควายตายก่อนได้ยาจากกรมปศุสัตว์ อบจ.อุดรฯ จัดงบ 5 แสนซื้อเวชภัณฑ์แจกเกษตรกรฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - เผยโรคลัมปีสกินคุกคามโค-กระบือในพื้นที่อุดรธานีหนัก ป่วยแล้วเกือบ 8,000 ตัว ตาย 360 ตัว หากรักษาไม่ทันเสี่ยงตายสูง ล่าสุด อบจ.อุดรธานี จัดงบ 500,000 บาท ซื้อเวชภัณฑ์มอบให้ปศุสัตว์นำไปแจกเกษตรกรฟรี หวั่นนั่งรอยารักษาที่กรมปศุสัตว์กำลังสั่งนำเข้า 60,000 โดสไม่ไหว วัวควายอาจตายหมดก่อน


วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ได้มอบยาเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกิน ให้แก่นายพนธ์สิทธ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายฤทธิเดช โคตรสาร ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี ที่ปรึกษานายก อบจ.อุดรธานี ปศุสัตว์อำเภอ หัวหน้าส่วนการงานร่วมพิธี

นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า อบจ.อุดรธานี ได้อนุมัติงบจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกิน ประกอบด้วย ยาแก้ปวดลดไข้ฟลูนิชิล ชนิดฉีด ขนาดบรรจุ 100 มล. จำนวน 380 ขวด ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน และสเตร็บโตมัยซีน ชนิดฉีด ขนาดบรรจุ 100 มล.จำนวน 340 ขวด และยากำจัดพยาธิภายนอกฟลูเมทริน 6 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบรรจุ 100 มล. จำนวน 790 ขวด วงเงิน 500,000 บาท ตามที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอรับการสนับสนุน ปัจจุบันพบมีการแพร่ระบาดใน 20 อำเภอของจังหวัด

ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ได้รับรู้รับทราบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ พบระบาดครั้งแรกปลายเดือนมีนาคม ที่อำเภอพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด


สำหรับจังหวัดอุดรธานี พอรับทราบว่ามีการแพร่ระบาดก็หารือกันว่าจะช่วยอย่างไร โดยทราบว่าทางกรมปศุสัตว์จะนำเข้าวัคซีน ประมาณ 60,000 โดส

ขณะที่การแพร่ระบาดในจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันละ 300-400 ตัว จะรอยาจากส่วนกลางคงไม่ทัน เบื้องต้น ทาง อบจ.ร่วมปศุสัตว์จังหวัด จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและป้องกันโรคให้เกษตรกร ในครั้งนี้ทาง อบจ.ได้สนับสนุนยาเวชภัณฑ์ เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ จำนวนยาครั้งนี้คาดว่าจะไม่เพียงพอ จะมีการหารือว่าจะจัดหายาอะไรมาเพิ่มเติมอีกต่อไป


ด้าน นายพนธ์สมิทธ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ภัยพิบัติครั้งนี้มาอย่างรวดเร็วมาก ถ้า อบจ.ไม่ให้การช่วยเหลือครั้งนี้เกษตรกรคงแย่ ปัจจุบันตัวเลขสัตว์ป่วยทั้งจังหวัดประมาณเกือบ 8,000 ตัว ตาย 360 ตัว บางส่วนรักษาหาย แนวโน้มโรคสัตว์โตจะไม่ตาย แต่ว่าต้องรักษาอย่างทันท่วงที เราจะนำยาทั้งหมดแจกจ่ายให้ทางปศุสัตว์อำเภอไปบริการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ฟรี ไม่เก็บค่าใช้จ่าย

หากมีการเก็บเงินจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เพราะยานี้เป็นงบประมาณของทางราชการ ซื้อมาเพื่อนำไปรักษา ไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ตกทุกข์ได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น