xs
xsm
sm
md
lg

กทม. พิจารณาตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งต่อให้ครบทั้ง 6 กลุ่มโซน ลดปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 ตกค้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานคร มอบหมายสำนักงานเขตจัดหาพื้นที่ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อให้ครบทั้ง 6 กลุ่มโซน เพื่อนำผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตกค้างมายังศูนย์ฯ เพื่อคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น ลดปัญหาการติดเชื้อของคนในครอบครัว

วันนี้ (1 ก.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม. และหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล Teleconference

ในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาพรวมความพร้อมสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้เร่งเพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล ภาพรวมขณะนี้โรงพยาบาลหลักสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 6 แห่ง และ Hospitel 3 แห่ง จำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 2,945 เตียง และในเดือน ก.ค. 64 จะขยายศักยภาพโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 3,121 เตียง แบ่งเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2,216 เตียง เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง 783 เตียง และเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง 122 เตียง

ในที่ประชุมมอบหมายสำนักงานเขตจัดหาพื้นที่ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อให้ครบทั้ง 6 กลุ่มโซน เพื่อนำผู้ป่วยตกค้างมายังศูนย์ฯ เพื่อคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น ลดปัญหาการติดเชื้อของคนในครอบครัว โดยให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาความเหมาะสมของศูนย์ฯ ทั้งด้านองค์ประกอบ สถานที่ บุคลากร และการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 20,000 ขวด จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อมอบให้แก่ผู้ป่วยตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยในวันที่ 5 ก.ค. นี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะส่งมอบให้กรุงเทพมหานคร 10,000 ขวด และจะส่งมอบอีก 10,000 ขวด ต่อไป

จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการร่วมแรงช่วยรัฐพัฒนาชุมชนยั่งยืน(Ladkrabang Model) ซึ่งเป็นโครงการให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดูแลพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขต โดยคณะกรรมการชุมชนจะพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ และสนับสนุนการจ้างแรงงานในชุมชนเพื่อเดินหน้าโครงการ อันจะเป็นการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชน สำหรับสำนักงานเขตลาดกระบัง มีจำนวนชุมชนทั้งสิ้น 65 ชุมชน แบ่งออกเป็นโครงการหลักๆ ดังนี้ 1. ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพัฒนาคลอง ซ่อมแซมถนน ทางเท้า ฝาท่อระบายน้ำ 2. ด้านเศรษฐกิจ อาทิ โครงการอบรมการประกอบอาหารเพื่อต่อยอดในการประกอบอาชีพ 3. ด้านสังคม อาทิ โครงการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง 4. ด้านอนามัย อาทิ รณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันโควิด-19 และ 5. ด้านจิตใจ อาทิ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 แจกข้าวสารอาหารแห้งในชุมชนสำหรับผู้กักตัว เป็นต้น ซึ่งโครงการทั้งหมดนอกจากจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้แล้ว ยังถือเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย นับว่าเป็นต้นแบบโครงการในการพัฒนาชุมชนยั่งยืนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวชุมชนได้อย่างแท้จริง จึงมอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตพิจารณาความเหมาะสมและนำแนวทางการดำเนินการของเขตลาดกระบังไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

เร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนงดบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ

จากนั้น สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease : LSD) จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างจุดที่พบสัตว์ป่วยสงสัยโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก พบเขตที่มีการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน จำนวน 4 เขต ได้แก่ เขตประเวศ เขตหนองจอก เขตมีนบุรี และเขตคลองสามวา มียอดสัตว์ที่ป่วยสะสม รวม 73 ตัว แบ่งเป็น โคเนื้อ 72 ตัว โคนม 1 ตัว รักษาหายแล้ว 23 ตัว เป็นโคเนื้อ 22 ตัว โคนม 1 ตัว รวม คงเหลือสัตว์ป่วย จำนวน 50 ตัว โดยขณะนี้ยังไม่พบว่ามีสัตว์ตาย อย่างไรก็ตามสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ได้มีประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin diseas) ในโคและกระบือ ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายสัตว์ชนิดโค กระบือ หรือซากของสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ท้องที่ชุมชนสุเหร่าศาลาลอย แขวงประเวศ เขตประเวศ ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. – 20 ก.ค. 64 และท้องที่ 64/6 หมู่ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. – 28 ก.ค. 64 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความห่วงใยต่อเกษตรกรในพื้นที่ กทม. จึงได้กำชับผู้อำนวยการเขต 50 เขต โดยเฉพาะเขตชั้นนอก ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่รับทราบข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน และให้สังเกตอาการป่วยหรืออาการผิดปกติของโค กระบือ หากพบตุ่มบนผิวหนังของสัตว์บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ภายในโพรงจมูก และช่องปาก สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 14 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ก.ค. มีวันสำคัญของชาวมุสลิม คือ วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา ซึ่งมักมีการเชือดสัตว์เพื่อแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน จึงอาจมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงให้สำนักงานเขตเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน อิหม่าม และประชาชน งดการเคลื่อนย้ายสัตว์ หากจำเป็นให้ขออนุญาตจากผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ก่อนทุกครั้ง รวมทั้งขอให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วยหรือตายด้วยโรคต่างๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น