นครสวรรค์ - แม่ค้าสาวเมืองปากน้ำโพหนีวิกฤตโควิดระลอกใหม่ ตลาดนัดปิด-คนไม่กล้าเดินพื้นที่แออัด ขนอาหารทะเลทั้งกุ้งตัวบิ๊กเบิ้ม-หอยแครง ฯลฯ จอดรถขายข้างทางแทน ด้าน ปธ.หอการค้าฯ แนะภาคธุรกิจเร่งสร้างแบรนด์-รัฐหาตลาดใหม่
วิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ โดยในกลุ่มพ่อค้าแม่ขายสินค้าอาหารทะเลที่นอกจากจะเกิดปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแล้ว ยังประสบปัญหาตลาดนัดหลายพื้นที่ถูกสั่งปิดตามมาตรการป้องกันโควิดด้วย
นางสาวณัฐกานต์ ทัดจันทร์ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารทะเลตามตลาดนัดในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์บอกว่า หลังเกิดปรากฏการณ์วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ เริ่มจากตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร จนผู้บริโภคกลัวติดเชื้อ-ไม่เชื่อมั่นในอาหารทะเล จนร้านอาหาร-แผงค้าตามตลาดนัดพื้นที่ต่างๆ ขายไม่ได้ไปตามๆ กัน
ล่าสุดตนจึงหันนำอาหารทะเลมาวางขายข้างถนนแทนตระเวนเปิดแผงตามตลาดนัด จอดรถขายทั้งหอยแครง และกุ้งขนาดต่างๆ ขายข้างทางพื้นที่ ต.บึงเสนาท อ.เมืองนครสวรรค์ แล้วปรับราคาลงมาให้มีราคาต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย จากเดิมกุ้งไซส์จัมโบ้ราคากิโลกรัมละ 280-300 บาท ตอนนี้ขายเพียงกิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อกันเป็นจำนวนมาก
“ลูกค้าส่วนใหญ่บอกว่าไม่อยากเสี่ยงต่อการเข้าไปเลือกซื้อตามสถานที่ที่มีผู้คนแออัด จึงหันมาเลือกซื้อของริมถนนแทนเพื่อความปลอดภัยและสบายใจกว่า”
ด้าน นายวิรัช ตั้งประดิษฐ์ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 2 บอกว่า หลังการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรกเศรษฐกิจและการส่งออกกำลังเริ่มดีขึ้น แต่พอเกิดการระบาดในรอบใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องของการส่งออกที่มีปัญหา ทั้งเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งตัว และเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ซึ่งทั้งหมดจะวนกันเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคการเกษตร ผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงภาคโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
“แต่ยังดีที่ทางภาครัฐนำประสบการณ์จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรอบแรกมาปรับใช้ คือ เลือกปิดเมืองและบังคับใช้กฎหมายเป็นจุดๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบในภาพรวมน้อยกว่าปิดทั้งระบบ”
อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐหาตลาดส่งออกรายใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะกระจายสินค้าให้มากขึ้นนอกจากการค้าขายกับลูกค้าเดิม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ควรสร้างแบรนด์ใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ซื้อด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้หากร่วมมือกันและผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดในไตรมาสแรกได้ หรือประคองเศรษฐกิจให้ทันวัคซีนที่กำลังจะออกมาได้ ก็คิดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือระดับประเทศคงไม่ทรุดหนักไปกว่านี้