xs
xsm
sm
md
lg

ประจวบฯ ยังหาข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - หลายฝ่ายยังหาข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาสับปะรดราคา ตกต่ำไม่ได้

วันนี้ (4 ธ.ค.) นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีและส่งเสริมการผลิตสับปะรด ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดส่งโรงงานแปรรูปมีราคาตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัม (กก.) ละ 4-5 บาท จากเดิมมีราคาสูงถึง กก.ละ 12 บาท ทำให้มีสับปะรดล้นตลาดวันละกว่า 1,000 ตัน โดยมี นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม แต่ยังไม่มีข้อสรุปในระยะสั้น จากสาเหตุตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูปจากไทย

นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย กล่าวว่า จ.ประจวบฯ มีโรงงานแปรรูปสับปะรดและพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดราคารับซื้อวัตถุดิบในตลาดได้ จึงเสนอให้ผู้ประกอบการโรงงานทุกแห่งในจังหวัดกำหนดแผนการผลิตและปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่แน่นอนเพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเก็บเกี่ยวได้อย่างเหมาะสม

นายอานนท์ โลดทนงค์ รองประธานสภาเกษตรกร จ.ประจวบฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายควรหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตสับปะรดที่กำลังออกสู่ตลาดมากในช่วงนี้จนถึงกลางปีหน้า โดยต้องการทราบว่าโรงงานจะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้จำนวนเท่าใดต่อวัน และรับซื้อได้ในราคาเท่าใด เพื่อให้โรงงานไม่ขาดทุนอยู่ได้ และเกษตรกรอยู่ได้ เบื้องต้นขอโรงงานช่วยตรึงราคารับซื้อผลผลิตที่ กก.ละ 7 บาท

นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การประชุมยังไม่มีข้อสรุปในการตรึงราคารับซื้อ เพราะมีเจ้าของโรงงานร่วมประชุมเพียง 3 ราย ดังนั้นจะต้องมีการประชุมอีกครั้งโดยเชิญผู้ประกอบการโรงงานทุกแห่งหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดราคารับซื้อในระดับที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย รองรับปริมาณผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาดจำนวนมาก

มีรายงานว่า ตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรดได้สะท้อนปัญหาหลังจากตลาดต่างประเทศชะลอการรับซื้อ ที่ผ่านมาโรงงานประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ทำให้เป็นอุปสรรคในการเพิ่มกำลังการผลิต โรงงานจึงลดปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบลง สำหรับการแก้ปัญหาราคาสับปะรดที่ยั่งยืน ขอให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง เพื่อให้โรงงานและเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกร่วมกันได้








กำลังโหลดความคิดเห็น