xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร ลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อลดต้นทุนและความเสียหายจากอากาศที่แปรปรวน ทำให้มีฝนตก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ชาวบ้านโจ่คีพื่อ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี เริ่มลงแรงเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่นี่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต ชาวบ้านจะเริ่มวางแผนในการเก็บเกี่ยวโดยดูจากข้าวในแต่ละไร่ โดยใช้วิธีการลงแรงช่วยกันเก็บเกี่ยว จนกว่าจะเสร็จทุกไร่

ชาวบ้านสะเนพ่อง กว่า 30 คน ทั้งชายและหญิงได้มาลงแรงเกี่ยวข้าวที่ไร่ของ นางมะลิ ไม่มีนามสกุล ซึ่งเลือกพื้นที่ทำไร่ในพื้นที่ป่า ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ในฐานะเจ้าของไร่ เช้าวันนี้ นางมะลิ ได้เตรียมน้ำดื่ม กาแฟ และทำกับข้าว ซึ่งได้จากการเก็บผักหลายชนิดที่ปลูกไว้ในไร่ข้าว มาทำแกงไว้สำหรับเพื่อนบ้านทุกคนที่มาช่วยเกี่ยวข้าวกิน ที่ขาดไม่ได้คือน้ำพริกกะเหรี่ยงของโปรดของทุกคน

ซึ่งการลงแรงเกี่ยวข้าวของที่นี่ ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต โดยมีข้อดีก็คือ ทำให้การเก็บเกี่ยวใช้เวลาไม่นาน และมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์จำพวกหมูป่าและหนูป่าที่คอยทำลายกัดกินสร้างความเสียหายน้อยลง 

หมู่บ้านโจ่คีพื่อ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่ห่างไกล ไม่มีร้านค้า ชาวบ้านที่นี่ทุกครอบครัวจึงปลูกข้าวไว้บริโภคกันเอง โดยอาศัยองค์ความรู้ในเรื่องการทำไร่หมุนเวียนที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ข้าวที่ชาวบ้านปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่ได้จากการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง หรือได้จากการแบ่งปันกันในชุมชน โดยที่ไม่ต้องไปซื้อหา พันธุ์ข้าวที่เลือกเป็นพันธุ์ข้าวที่ใช้น้อย อาศัยเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น

ส่วนพื้นที่ในการทำไร่ข้าวก็จะเลือกจากพื้นที่ป่ารอบๆ หมู่บ้าน เพื่อสะดวกในการดูแลระหว่างการเพาะปลูก และใช้พื้นที่ไม่มาก โดยพื้นที่ที่เลือกทำไร่ข้าวจะต้องเป็นพื้นที่มีความลาดเอียง และเป็นพื้นที่ป่าไผ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ลักษณะดังกล่าวจะมีดินที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะกับพันธุ์ข้าวที่มี โดยอาศัยปุ๋ยที่ได้จากการเผาไม้ไผ่

ส่วนความลาดเอียงของพื้นที่ไร่ จะช่วยทำให้วัชพืชในไร่ข้าวเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาจะพัดพาเมล็ดวัชพืชที่อยู่ในพื้นที่ไร่ ไหลไปกับน้ำลงไปยังพื้นที่ราบด้านล่าง ทั้งนี้การทำไร่ข้าวในระบบไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยง จะไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้าและสารเคมีใดๆ

การกำจัดวัชพืชจะใช้วิธีการถอนหรือการใช้มีด จอบ ในการกำจัดวัชพืช ก่อนนำไปทิ้งไว้รอบๆ ไร่ จึงทำให้ไร่ข้าวของคนกะเหรี่ยง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านที่นี่ได้กินข้าวที่ปลอดสารเคมี ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของชาวบ้าน

นอกจากในไร่ข้าวจะปลูกข้าวแล้ว ชาวกะเหรี่ยงที่นี่ยังนิยมปลูกผัก จำพวกเผือก ฟักเขียว ฟักทอง แตงไทย บวบ รวมทั้งพริกกะเหรี่ยงไว้ในไร่ข้าว เพื่อเก็บไว้กินและประกอบเป็นอาหารไว้ถวายพระในงานบุญต่างๆ อีกด้วย

ผลจากการไม่ใช้สารเคมี ทำให้ในไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสังเกตได้จากการพบแมลงต่างๆ ที่อยู่ในธรรมชาติ รวมทั้งพันธุ์ไม้ในธรรมชาติที่ยังคงพบเห็นได้ในไร่ข้าวของชาวบ้านที่นี่ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

พื้นที่ไร่ข้าวก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้ ให้ค่อยๆ ปรับสภาพกลับมาเป็นป่าในระยะเวลา 3-4 ปี พื้นที่แห่งนี้ก็จะกลับมาเป็นพื้นที่ป่า เพื่อให้ชาวบ้านได้กลับมาทำไร่ปลูกข้าวไว้กินอีกครั้ง ตามวงรอบของการทำไร่ข้าว ในรูปแบบของไร่หมุนเวียน ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553










กำลังโหลดความคิดเห็น