xs
xsm
sm
md
lg

เพราะเราดูแลทะเลกับป่า ป่ากับทะเลจึงดูแลเรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับร้อยปี จุดเริ่มต้นของบ้านไหนหนังบนเส้นทางสายอนุรักษ์ เมื่อเกิดความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจากการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง อย่างเรืออวนรุนอวนลาก และโป๊ะน้ำตื้น ขณะที่ทางการจังหวัดกระบี่ก็เริ่มมีโครงการรณรงค์ให้เลิกใช้เครื่องมือผิดกฎหมายในการทำประมง


นายการีม เขาคราม กำนันตำบลเขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ผู้นำคนสำคัญที่ผลักดันขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกับคนในชุมชน โดยใช้มัสยิดเป็นที่ประชุมหลังการละหมาดทุกวันศุกร์ พร้อมทั้งเชิญแกนนำที่เป็นไทยพุทธ มุสลิม รวมทั้งนายก อบต.เขาคราม เข้ามาร่วมพูดคุยวางแผนงาน ปรึกษาหารือกันหลายรอบอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การให้สัตยาบันเพื่อการประมงที่ยั่งยืนว่าจะยุติการใช้โป๊ะน้ำตื้นให้ได้ภายใน 3 ปี ทุกคนยอมเสียสละรายได้เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน เพราะการอนุรักษ์ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงวันนี้ “บ้านไหนหนัง” ได้ฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยจิตวิญญาณของนักสู้โดยแท้จริง โดยกำนันตำบลเขาครามและชาวบ้านได้ร่วมกันทัดทานต่อสู้กับบรรดาเรืออวนรุนอวนลากที่รุกคืบเข้ามาถึงทะเลหน้าบ้าน การต่อสู้ดังกล่าวกินเวลายาวนานหลายปี ถึงขนาดต้องเอาชีวิตเข้าแลก แต่ก็ไม่ย่อท้อ จนกระทั่งสามารถยุติการใช้โป๊ะน้ำตื้นได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ได้เป็นแบบอย่างและแรงจูงใจให้หมู่บ้านชาวประมงในท้องถิ่นเลิกใช้โป๊ะน้ำตื้นตามไปด้วย และผลลัพธ์ขั้นสุดที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่งก็คือ ส่งผลให้จังหวัดกระบี่กลายเป็นจังหวัดแรกในภาคใต้ที่ยุติการใช้โป๊ะน้ำตื้นได้อย่างสิ้นเชิง


จากการเป็นต้นแบบในด้านการประมง บ้านไหนหนังได้ต่อยอดพัฒนาไปสู่การอนุรักษ์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยกำหนดพื้นที่เป็นวงใน (ไข่แดง) เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ และวงนอก (ไข่ขาว) ให้ชุมชนเข้าไปหาหอยได้ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน การจัดทำบ้านปลาด้วยท่อซีเมนต์เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ และที่สำคัญคือการการฟื้นฟูป่าชายเลน ที่ประสานการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาสังคม และสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 26 ส่งผลให้ในปัจจุบัน ป่าชายเลนผืนดังกล่าวมีการฟื้นตัว ไม่เว้าแหว่งอย่างเมื่อก่อน

ขณะเดียวกัน ถึงแม้กระแสการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจะกระจายไปทั่วภาคใต้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ปรับที่ทางซึ่งมีอยู่ไปเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง แต่สำหรับชาวไหนหนัง ไม่ได้ตามกระแสนั้นไปด้วยและยังคงหยัดยืนรักษาผืนนาของตัวเองไว้สำหรับปลูกข้าว ชาวบ้านไหนหนังปลูกข้าวหลายชนิด ทั้งข้าวหอมประทุม มะลิ105 สังข์หยด และ พันธุ์ข้าวไร่ ไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวจากที่อื่น

นอกจากผืนนาที่มีรวมกันกว่า 150 ไร่แล้ว บ้านไหนหนังยังมีที่ดอนซึ่งเป็นสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน แต่ด้วยความผันผวนของราคายางพาราที่พร้อมจะตกต่ำอย่างคาดเดาไม่ได้ ทำให้ชุมชนปรึกษากันเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน และแล้วก็ค้นพบกับคำตอบในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ตามมา

โดยความสมบูรณ์ของผืนป่าที่ฟื้นตัว เป็นธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม ทำให้ชาวไหนหนังเกิดไอเดียในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปเครือข่ายวิสาหกิจท่องเที่ยวเชิงชุมชนบ้านไหนหนัง-เขากาโรส พร้อมทั้งดึงศักยภาพของกลุ่มสตรีในชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและนม เพิ่มพูนรายได้ให้กับชุมชน


นอกจากนั้นแล้ว อานิสงส์ของการฟื้นป่าชายเลน ได้กลายเป็นแหล่งอาหารของบรรดาผึ้ง และก่อให้เกิดการเลี้ยงผึ้งโพรงขึ้น และผลดีที่ตามมาอีกก็คือ ทำให้เกิดการงดใช้ยาฆ่าหญ้า สารเคมีปราบศัตรูพืช รวมถึงการเผา เพราะแหล่งอาหารของผึ้งจะต้องสะอาด เพื่อถนอมคุณภาพน้ำผึ้งและรักษาประชากรผึ้ง ปัจจุบัน บ้านไหนหนังมีชาวบ้านเลี้ยงผึ้ง 35 ครัวเรือน มีรังผึ้งประมาณ 500 รัง รายได้โดยเฉลี่ยจากการขายน้ำผึ้งในแต่ละปี สูงถึง 30,000-40,000 บาท และเมื่อปี 2557 ได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านไหนหนังเพื่อนำผลผลิตจากผึ้งโพรงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่เหลว สบู่ก้อน แชมพู โดยใช้สมุนไพรในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบ


ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลและอนุรักษ์ผึ้งโพรงเป็นอย่างดีนี้เองที่ทำให้ชุมชนบ้านไหนหนังได้รับการยอมรับในระดับสากลให้เป็นชุมชนต้นแบบในด้าน Bee Culture Group โดย ชุมชนบ้านไหนหนัง จ.กระบี่ เจ้าของ “รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19 ประเภทชุมชน” ได้รับเกียรติบัตร 1 ใน 76 ชุมชนอนุรักษ์ที่เข้ารอบสุดท้าย รางวัล Equator Prize จาก the United Nations Development Programme (UNDP) เพราะผึ้งนับเป็นสัตว์ผสมเกสรที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศ เป็นผู้ส่งเสริมการแพร่พันธุ์ของพืชอาหารของโลก โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่โลกประสบปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนส่งผลให้ประชากรผึ้งลดจำนวนลง ดังนั้นการร่วมกันอนุรักษ์และดูแลผึ้ง จึงเทียบเท่าการรักษาระบบนิเวศทั้งระบบไว้ให้กับโลก


สิ่งดี ๆ มีประโยชน์ทั้งหมดนี้ คือคุณูปการจากผืนป่า และด้วยความตระหนักถึงคุณค่าและสิ่งที่ได้รับจากผืนป่า ชาวบ้านไหนหนังก็มีระบบ “คืนให้ป่า” โดยทุกกลุ่มอาชีพจะมีการแบ่งรายได้ร้อยละ 10 มอบเข้ากองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็ใช้พลังของการอนุรักษ์ต่อยอดไปสู่การจัดการขยะด้วยการตั้ง “กองทุนขยะมัสยิดบ้านไหนหนัง” ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ปี 2555 โดยชาวบ้านจะคัดแยกขยะจากต้นทางแล้วนำไปบริจาคให้กับมิสยิด นำรายได้เข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เพราะคนไหนหนัง พูดคำไหนคำนั้น และไม่ทำอะไรเล่น ๆ ความสำเร็จของชุมชนบ้านไหนหนัง คือการเป็นนักสู้ตัวจริง มีการควบคุมการใช้ป่าอย่างจริงจัง เคารพในกฎระเบียบ แกนนำมาจากคนหลายกลุ่ม ทั้งผู้นำทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่น สตรีเยาวชน ล้วนมีบทบาทหนุนเสริมกัน อีกทั้งทำงานร่วมกับภาคีภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้งานอนุรักษ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเดินไปด้วยกันได้


“เมื่อเราดูแลทะเลกับป่า ทั้งป่าและทะเลก็จะกลับมาดูแลเรา” ความจริงข้อนี้ได้รับการพิสูจน์ชัดเจนแล้วจากรอยยิ้มและความสุขที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านไหนหนัง หมู่บ้านต้นแบบซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ชาวประมงหมู่บ้านอื่นเลิกใช้โป๊ะน้ำตื้นในการจับสัตว์น้ำ และทำให้ “กระบี่” กลายเป็นจังหวัดแรกในภาคใต้ที่ยุติการใช้โป๊ะน้ำตื้นอย่างสิ้นเชิง..นี่คือ “บ้านไหนหนัง” เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19 ประเภทชุมชน จากสถาบันลูกโลกสีเขียว


รางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นรางวัลที่มอบเพื่อยกย่อง ชื่นชม และเป็นกำลังใจแก่ชุมชน บุคคล กลุ่มเยาวชน และสื่อมวลชน ที่ร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า” โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม เพื่อร่วมกันสร้างลูกโลกสีเขียวให้ยั่งยืนตลอดไป




Link website : https://www.greenglobeinstitute.com/Frontend/Content.aspx?ContentID=bdc3f0db-4091-426e-b2e8-daf70375f7de




กำลังโหลดความคิดเห็น