xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเซ็นทรัลเคมีดึงภาครัฐ-เอกชนลุยโครงการ "เกษตรสร้างคุณค่า" หวังแก้ปัญหาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภูมิภาค - ไทยเซ็นทรัลเคมี นำทัพภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เดินหน้าแก้ปัญหาให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตรของไทย ผ่านโครงการ "เกษตรสร้างคุณค่า" มุ่งเพิ่มองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทุกภาคส่วน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรไทยไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน


เมื่อเร็วๆ นี้ นายวัชระ ปิงสุทธิวงศ์ ซีอีโอ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี เป็นประธานเปิดโครงการ “เกษตรสร้างคุณค่า - The Value Creating Agriculture Project” โดยกล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดอบรมเกษตรกร ตัวแทนจำหน่าย และลูกค้าระดับ Sub - Dealer อย่างต่อเนื่อง โดยเชิญนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันเป็นวิทยากรบรรยาย แลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้านการเกษตรของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมจัดทำแปลงสาธิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นแปลงนาสาธิตไม้ผล มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย รวมทั้ง พืชผักต่างๆ เพื่อวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกประสบกับการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถจัดทำโครงการอบรมให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรได้ บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการ “เกษตรสร้างคุณค่า - The Value Creating Agriculture Project” ขึ้น


โครงการ “เกษตรสร้างคุณค่า - The Value Creating Agriculture Project” คือเวทีในการนำเสนอ เผยแพร่ พูดคุยประเด็นต่างๆ ด้านการเกษตร ด้านแนวคิดการทำการเกษตรใหม่ๆ และภาพรวมเศรษฐกิจภาคการเกษตรไทยในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต รวมทั้งเป็นเวทีในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านการทำธุรกิจการเกษตรของประเทศไทย และสร้างกลุ่ม Smart Farmer โดยเน้นกลุ่มนักศึกษาด้านการเกษตร ธุรกิจเกษตรและผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรรุ่นใหม่ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ 2 กิจกรรม

ประกอบด้วย Agri. Insights ซึ่งเป็นการบรรยาย เสวนาทางวิชาการ ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่ 14.00-16.00 น. มีทั้งหมด 10 ตอน โดยเริ่มตอนแรกในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และกิจกรรมต่อมาคือ Thailand Agriculture Forum ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23-24 มกราคม 2564 กิจกรรมนี้จะมีไฮไลค์ในวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2564 คือ การแข่งขันวิเคราะห์และเสนอแนวคิดเพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านการเกษตรของไทย (Agricultural Case Competition) ของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ชิงทุนการศึกษากว่า 200,000 บาท โดยกิจกรรมทั้งหมดจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร นิสิต นักศึกษา นักวิชาการด้านการเกษตร รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจเกษตรของไทย ได้นำความรู้ไปพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


นายกองเอกเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวถึงโครงการ “เกษตรสร้างคุณค่า” สมาคมฯ มีส่วนร่วมกำหนดหัวข้อบรรยายต่างๆ และได้ประสานงานเรียนเชิญนักวิชาการระดับประเทศ ที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้และความชำนาญของแต่ละท่านให้แก่ผู้สนใจ เข้ารับฟังและชมรายการดังกล่าว

โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 10 เรื่อง คือ 1.ข้าว : การผลิตและการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย 2.ผลไม้ : การผลิตการส่งออกและแนวโน้มตลาด 3.ยางพารา : อนาคตและการปรับตัวของเกษตรกร 4.แนวทางปฏิบัติและการจัดการในภาคเกษตร นิยามบทบาทและความเหมาะสมของเคมีและอินทรีย์ 5.ห่วงโซ่มูลค่าในภาคเกษตร-การเพิ่มมูลค่าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

6.เทคโนโลยีการเกษตร-การปฏิบัติจริงและความเป็นไปได้ในอนาคต 7.น้ำ : การบริหารและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร 8.การจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร และมนุษย์ 9.การจัดการที่ดีตามวิถีเกษตรก้าวหน้า 10.การบริหารการเงินและภาษีสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร

“ทางสมาคมฯ หวังว่าการบรรยายทั้ง 10 เรื่องนี้จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้หรือไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกภาคส่วนของวงการธุรกิจการเกษตรไทยต่อไป” นายกองเอกเปล่งศักดิ์ กล่าว


ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ภาคการเกษตรไทยต้องมีการปรับโฉมกันครั้งใหญ่ เพราะประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย จีน ได้แซงหน้าไปไกลแล้ว ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมมากที่หลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน NGO และประชาชนจะได้ช่วยกันนำความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำ และจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาช่วยกันพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยมีความยินดีที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการ “เกษตรสร้างคุณค่า” เพราะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และงานวิจัยต่างๆ มากมาย ที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้ปุ๋ยและธาตุอาหารพืช เกษตรกรยังใช้ปุ๋ยแบบเดิม

ทั้งๆ ที่ปัจจุบันสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยจะเป็นหัวใจของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสามารถไปปฏิบัติได้ในพื้นที่จริง


ขณะที่ น.ส.วรวลัญช์ พชรสิริกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นว่า โครงการ “เกษตรสร้างคุณค่า” เป็นโครงการเสริมความรู้ให้แก่นักศึกษานอกเหนือจากทฤษฎีที่ได้เรียนมาในมหาวิทยาลัย เพราะความรู้ที่ได้จะมีทั้งในเรื่องการวางแผนจัดการด้านการเกษตร นวัตกรรมใหม่ๆ และการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร

"หากนำความรู้ที่ได้มารวมกับทฤษฎีที่เรียนมาก็จะสามารถนำไปประยุกต์และจุดประกายความคิดใหม่ๆ ให้พวกเรามีแนวทางในการพัฒนาประเทศ และถ้าเราร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย ก็จะส่งผลดีกับประเทศได้ในอนาคต" น.ส.วรวลัญช์ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น