“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
“มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง”
“น้าชาติ-พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” คงได้อ่านข้อความนี้ของอัจฉริยะระดับโลก “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”?
“น้าชาติ” ที่อยู่ในวัยอาวุโสแล้ว ทว่าอายุมิใช่ปัญหากับความทันยุคทันสมัยเลย ตรงกันข้าม “น้าชาติ” กลับมีความคิดทันสมัยล้ำยุคอยู่เสมอ แถมใช้ชีวิตคิดบวกมีอารมณ์ขันมิได้ขาด..
ค่ำคืนก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “นายกรัฐมนตรี”คนที่ 17 ของชาติไทย ในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 “น้าชาติ” ได้พูดกับ “จารย์โต้ง” ลูกชายคนเดียวสุดเลิฟว่า
“พรุ่งนี้คงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ นะ โต้งมาช่วยตั้งทีมที่ปรึกษาหน่อย”
นั่นเป็นจุดก่อเกิด คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในนาม “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ที่ “อาจารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงตั้งขึ้น โดย “พ่อชาติชาย” ขอร้องแกมบังคับ ให้ “ลูกไกรศักดิ์” ต้องรับภารกิจประวัติศาสตร์ในครั้งนี้..
หลัง “น้าชาติ” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกต้องตามขั้นตอนอย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 79/2531 แต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษานโยบายฯ” ดังรายชื่อต่อไปนี้ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ณรงค์ชัย อัครเศรณี ชวนชัย อัชนันท์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในขณะที่ “จารย์โต้ง” มีตำแหน่งเป็น “นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา”
ภายหลัง “นายกฯ ชาติชาย ”ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงเบื้องหลังความคิดในการตั้งทีมคนรุ่นใหม่ มาเป็นที่ปรึกษาว่า
“ผมอายุ 70 ปี ตอนที่เป็นนายกฯ จำเป็นต้องเอาคนหนุ่มๆ มาเป็นที่ปรึกษา คือ เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ประวัติเหมือนผ้าขาวสะอาด”
ส่วน “จารย์โต้ง”ได้กล่าวถึงทีมที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” ในภายหลังว่า
“ตอนตั้งทีมบ้านพิษณุโลกขึ้นมา พ่อเขาไม่อยากให้ข้าราชการประจำมาหลอกเขา ไม่อยากให้รัฐมนตรีมาต้มเขา ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะกรองทั้งหมด แล้วเสนอเรื่องใหม่เข้ามาเพื่อบริหารประเทศ คนที่เข้าร่วมบ้านพิษณุโลกส่วนใหญ่ เป็นนักคิดอิสระกันอยู่แล้ว เป็นผู้ที่ทวนกระแส แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ค่อยได้มีโอกาส ในการใช้ปัญญาบริหารประเทศหรือออกนโยบาย ก็เป็นโอกาสของเขา แล้วเขาก็ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องที่นักวิชาการเหล่านี้ ไม่ได้ติดอยู่กับตำราหรือทฤษฎีนามธรรม แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานได้ด้วย ทุกอย่างที่เขาเสนอมาทำได้จริง”
ทีมที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” ยังได้เชิญบรรดานักวิชาการ เข้ามาเป็นคณะทำงานอีกหลายคน เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิษณุ เครืองาม สังศิต พิริยะรังสรรค์ นิพนธ์ พัวพงศกร อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ นิคม จันทรวิทุร นฤมล ทับจุมพล ปรางทิพย์ ดาวเรือง และสุรนุช ธงศิลา
นั่นเป็นรายชื่อบุคคลทีมหนุนเสริมที่เปิดเผย ทว่า ก็ยังมีทีมเพื่อนพ้องน้องพี่อีกมากมาย จากหลายหลากวงการ ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำงานอย่างขันแข็ง ให้กับ “จารย์โต้ง” และรัฐบาล “น้าชาติ”มาโดยตลอด
“จารย์โต้ง” กับ “ทีมบ้านพิษฯ” และเพื่อนพ้องน้องพี่มากหน้าหลายตา ได้ทำให้รัฐบาล “น้าชาติ” มีผลงานที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ในหลายมิติ จนแหวกทะลุความซ้ำซากจำเจได้หลายเรื่อง ส่งผลให้ผู้คนทั้งในประเทศและทั่วโลก เกิดความยินดีปรีดาอย่างยิ่ง กับการนำสันติภาพกลับคืนมาสู่ภูมิภาคนี้ได้
โดยหลังจาก “จารย์โต้ง”กับผม ผลักดันให้ “พีรพล” เดินหน้าไปทำธุรกิจในเวียดนาม แม้ผมจะยังคงทำงานอยู่กับ “จารย์โต้ง” แต่ “จารย์โต้ง”ได้ให้ผมไปช่วย “พีรพล” อีกแรงหนึ่ง โดยพวกเรามักจะมารายงานความคืบหน้า เรื่องเวียดนามที่บ้าน “จารย์โต้ง”อยู่เสมอๆ
ห้วงนั้น การเดินทางไปยังประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีกองกำลังทหารที่เข้ามาช่วยให้กัมพูชาหลุดพ้นจากชาติมะกัน ยังคากองกำลังทหารเวียดนามมากมาย อยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา สร้างความตึงเครียดให้กับไทยและกัมพูชามาตลอด
“พีรพล”หนึ่งในผู้นำนักศึกษา“เหตุการณ์ 14 ตุลา 16” ที่ต่อสู้จนได้ประชาธิปไตยในชาติไทยครั้งนั้น มิได้ทำเพียงแค่ธุรกิจในเวียดนามเท่านั้น ทว่า”พีรพล”ยังทำงานเพื่อให้เกิดสันติสุข ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาอีกด้วย
โดยในเดือนเมษายนปี 2530 “พีรพล” กับ “พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช” อดีตทูตไทยในประเทศกัมพูชา บิดาของ “ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” และ “ชัยศิริ สมุทวณิช” ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท “จารย์โต้ง” โดย “พีรพล” ได้นำ “อดีตท่านทูตชนะ” เดินทางไปเวียดนามพบปะกับ “เหงียนโกธัค” ที่ขณะนั้นเป็นรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ของรัฐบาลเวียดนาม
โดย “เหงียนโกธัค-อดีตท่านทูตชนะ-พีรพล” กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” อดีตนายกฯนักศึกษา ม.เชียงใหม่ ในยุค “เหตุการณ์ 14 ตุลา 16” ขณะนั้นเป็นนายกฯสมาคมประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งภายหลัง “วิชาญ” ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาฯ อีกด้วย
ทั้งหมดได้ร่วมพูดคุยหลากหลายเรื่องราว ที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยกับเวียดนาม รวมทั้งเรื่องกองกำลังทหารเวียดนาม ที่คาอยู่ตามชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อจะยุติปัญหาการกระทบกระทั่งกัน ของทหารทั้งสองฝ่ายในห้วงนั้นอีกด้วย
หลังจากนั้น “พีรพล” มีโอกาสได้พบกับ “อ.สัญญา ธรรมศักดิ์”ประธานองคมนตรี “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ซึ่งเคยร่วมกับ “พีรพล” แก้ปัญหา “เหตุการณ์ 14 ตุลา 16” โดย “พีรพล”ได้รายงานเรื่องเวียดนาม ให้ “อ.สัญญา”ได้รับรู้อย่างเป็นกันเอง
“พีรพล”ยังได้รายงาน เรื่องท่าทีที่เป็นมิตรของรัฐบาลเวียดนามต่อชาติไทย ให้ผู้ใหญ่ในชาติบ้านเมืองอีกหลายคนได้รับรู้อีกด้วย นั่นเป็นสิ่งที่”พีรพล”ได้ทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
เรื่องราวอีกมากมายที่ “พีรพล” ทำไว้ เป็นสิ่งที่ “จารย์โต้ง-ผม-ฟามเนียม-พีรพล” และผู้เกี่ยวข้องมากมายหลายคน ได้เข้ามาเกี่ยวข้องก่อนที่ “น้าชาติ” จะได้เป็น “นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17” ในวันที่ 4 สิงหาคม 2531
ก่อนวันที่ “น้าชาติ” จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี “จารย์โต้ง” กับผมได้เล่าเรื่อง การไปทำงานที่เวียดนามของ “พีรพล”ให้ “น้าชาติ” ฟัง โดย “น้าชาติ” ได้พูดสรุปสั้นๆในตอนนั้นว่า
“..โต้งทำเรื่องเวียดนามต่อเลย ส่วนเรื่องจีนที่ทำไว้ตั้งแต่แรก..พ่อจะทำต่อเอง..”
นั่นเป็นปฐมบท ก่อนที่สันติภาพในอินโดจีนจะเกิดตามมา จากแรงสมองและเรี่ยวแรงของ “จารย์โต้ง” กับบรรดาทีมงานที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” อีกทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รัก “จารย์โต้ง” อ้อ.. รวมทั้ง “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ”ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ที่ “เปิดไฟเขียว” เต็มพิกัด จนเกิดสันติภาพในครั้งนั้น..
ที่ต้องขอบคุณเป็นพิเศษ ก็คือ ทูตเอกการเมือง “ฟามเนียน” กับ รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ “เหงียนโกธัค” รวมทั้งรัฐบาลเวียดนามในครั้งนั้น
รัฐบาลของ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ที่มีลูกชาย “อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เป็นผู้นำทีมที่ปรึกษา ได้เปิดนโยบายที่สร้างผลงานชิ้นเอก ให้ชาวไทยและผู้คนทั่วอินโดจีน ทั้งเวียดนาม-กัมพูชา-ลาว ได้จดจำตราตรึงมาจนวันนี้ ว่า
สันติภาพในอินโดจีนและอาเซียนคราครั้งนั้น เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาล “ชาติชาย” ที่ผลักดันจนนโยบายปรากฏเป็นจริงอย่างรวดเร็ว ดัง “จารย์โต้ง” ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือ “ชีวิต มุมมอง ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ข้อความตอนหนึ่งว่า
“..พ่อผมคิดเอง ทีมที่ปรึกษาไม่ได้คิดหรอก เขา(น้าชาติ)คุยกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการแทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ช่วงปี 2530-2531) ตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นนายกฯแล้วว่า เรื่องนี้จะเป็นนโยบาย และนโยบายนี้เองที่ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าหลายคน ยอมมาเป็นที่ปรึกษา ก็มาคุยที่บ้านซอยราชครูนี้ล่ะ พ่อก็ถามว่ามามั้ย มาช่วยเรื่องพวกนี้กัน”
“จารย์โต้ง” ได้ระบุไว้ว่า “คำว่า ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ นี่..พ่อเขาคิดขึ้นมาเอง”!