xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเซ็นทรัลเคมีร่วมโรงสีติวเข้มชาวนาเทคนิคการใช้ปุ๋ยให้ได้ผลผลิตและคุณภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร้อยเอ็ด - ไทยเซ็นทรัลเคมีร่วมกับโรงสีศรีแสงดาวติวเข้มพี่น้องชาวนาเทคนิคจัดการธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ยในนาข้าวอย่างไรให้ได้ผลผลิตเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนองนโยบายรัฐดันการส่งออกข้าวไทยให้เป็นที่หนึ่งในตลาดโลก ด้านนักวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์แนะให้ปลูกข้าวแบบนาหยอดแทนนาหว่าน ลดทุนเมล็ดพันธุ์ โตเร็ว แตกกอดี


เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม บริษัท โรงสีศรีแสงดาว จำกัด อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ตราหัววัว-คันไถ ร่วมกับบริษัทโรงสีศรีแสงดาว (จำกัด) จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการจัดการธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ยในนาข้าว โดยมี รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายเรื่องการจัดการธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ยในนาข้าว และนายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บริษัท โรงสีศรีแสงดาว จำกัด ร่วมเสวนาในประเด็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปลูกข้าว

การอบรมครั้งนี้คาดหวังให้เกษตรกรได้นำความรู้ไปปรับพัฒนาการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น สนองนโยบายภาครัฐผลักดันการส่งออกข้าวไทยให้เป็นที่หนึ่งในตลาดโลกอีกด้วย

นายวัชระ ปิงสุทธิวงศ์ ซีอีโอ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี
นายวัชระ ปิงสุทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี กล่าวเปิดโครงการอบรมเกษตรกรครั้งนี้ว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาข้าวไทยให้มีคุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้น รวมทั้งพยายามจะผลักดันการส่งออกให้ข้าวไทยเป็นที่หนึ่งในตลาดโลก อีกทั้งยังจะเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทางบริษัทฯ เล็งเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น เกษตรกรจะต้องมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องการจัดการดิน น้ำ การใช้นวัตกรรมด้านการเกษตร ประสบการณ์และภูมิปัญญาจากเกษตรกร

รวมทั้งปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อปรับแต่งพืชผลตามที่ต้องการ เช่น เร่งการเจริญเติบโตของใบและต้น รวมทั้งการออกดอกและผลผลิต ดังนั้น จึงได้ร่วมกับโรงสีศรีแสงดาวจัดอบรมในเรื่องการจัดการธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ยในนาข้าวดังกล่าวขึ้น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้มีความรู้ความเข้าใจการใช้ปุ๋ยอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวสูงสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากเกษตรกรชาวนาใช้ปุ๋ยได้ถูกต้อง ให้ธาตุอาหารได้ตรงความต้องการของนาข้าวจะมีผลดีตามมามากมาย


ขณะที่ รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกษตรกรปลูกข้าวแล้วได้ผลผลิตน้อย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านการจัดการธาตุอาหาร การจัดการแปลง และการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสม โดยปกติเกษตรกรมักจะเผาตอซังข้าวก่อนการเตรียมดินปลูก ทำให้สูญเสียธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์ไปกับการเผา จึงอยากให้เปลี่ยนเป็นวิธีการไถกลบฟางข้าวแล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน

จากนั้นปลูกปอเทืองแล้วไถกลบอีกรอบเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน อีกทั้งแนะนำให้ใส่หินร็อคฟอสเฟต (0-3-0) อัตราไร่ละ 10 กิโลกรัม ร่วมกับการใส่ปูนโดโลไมท์ อัตราไร่ละ 25 กิโลกรัม เพื่อช่วยปรับสภาพดินก่อนการปลูก

สำหรับวิธีการปลูก แนะนำให้เปลี่ยนวิธีใหม่ จากเดิมที่เกษตรกรนิยมปลูกข้าวแบบวิธีหว่าน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอัตราไร่ละ 25-35 กิโลกรัม มาเป็นวิธีการปลูกข้าวแบบนาหยอด ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงอัตราไร่ละ 4 กิโลกรัม ระยะปลูก 30x15 เซนติเมตร เป็นการประหยัดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ โดยต้นข้าวที่ได้จากวิธีการปลูกแบบหยอดจะขึ้นเป็นแถว มีระยะห่างที่เหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้การจัดการ ดูแลรักษาง่าย ได้รับธาตุอาหารเพียงพอ

“การปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ส่งผลให้เจริญเติบโตเร็ว แตกกอดี ต้นข้าวมีความสม่ำเสมอกันทั้งแปลง มีจำนวนรวงเยอะ น้ำหนักเมล็ดดี สภาพต้นแข็งแรง ลดการเกิดโรค และทนต่อสภาพแล้งได้ดีกว่าวิธีปลูกข้าวแบบเดิมคือการหว่าน” รศ.ดร.สุมิตรากล่าว และว่า

การใส่ปุ๋ยเคมี จะเป็นการใส่ปุ๋ยเคมีตามเป้าหมายของผลผลิต เพิ่มปริมาณปุ๋ยเคมีตามเป้าผลผลิตที่ต้องการ ซึ่งจะแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-8-20 ทุกระยะการเจริญเติบโต ตลอดทั้งฤดูปลูก แบ่งการใส่ปุ๋ยออกเป็น 2-3 ครั้ง โดยจะใส่ปุ๋ยเคมีเมื่อฝนตกหรือสภาพดินมีความชื้น โดยการใส่ปุ๋ยทุกระยะอัตรารวมกันจะต้องเท่ากับ 40-50 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับเป้าหมายผลผลิตข้าว 500 กิโลกรัมต่อไร่

รวมทั้งการใช้ธาตุอาหารเสริม คือ ธาตุสังกะสี และโบรอน เพื่อเพิ่มศักยภาพผลผลิต ถ้าเกษตรกรทำตามขั้นตอนดังกล่าวจะได้ข้าวลำต้นใหญ่ แตกกอดี และมีจำนวนต้นถึง 40-60 ต้นต่อกอ


ที่สำคัญ คือ ห้ามตัดใบข้าวเพื่อกระตุ้นให้ข้าวแตกกอ เพราะจะทำให้ได้จำนวนรวงข้าวลดลง ทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรเก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดข้าวระยะสุกแก่ มีความชื้นเหมาะสม เลือกใช้รถเกี่ยวที่มีการล้างทำความสะอาดรถและถังบรรจุก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันปัญหาวัชพืช และพันธุ์ปน หากเกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนี้ จะสามารถประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวเทียบกับวิธีเดิมได้ถึง 6-9 เท่า สภาพดินจะมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการปลูกข้าว

อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างคุ้มค่า ลดต้นทุนค่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้ผลผลิต และคุณภาพข้าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ข้าวไทยก็จะมีศักยภาพแข่งขันกับตลาดโลกได้

ด้าน นายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้จัดการ บริษัท โรงสีศรีแสงดาว จำกัด ผู้ส่งเสริมและรับซื้อผลผลิตข้าว และเป็นผู้ส่งเสริมการปลูกข้าวแบบนาหยอด และพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรด้านนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการ “ศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด ทำน้อย ได้มาก” เพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพผลผลิต และคุณภาพของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จึงได้จัดทำโครงการแปลงทดลอง และแปลงสาธิตการผลิตข้าว เพื่อส่งเสริมแนวทางให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

โดยได้ใช้ข้าวพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 ชั้นพันธุ์ขยาย อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 900 กรัมต่อไร่ (โดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอัตรา 20-35 กิโลกรัมต่อไร่) เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในการจัดการแปลงผลิตข้าว

ได้แก่ เทคโนโลยีการปรับระดับที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เทคโนโลยีการหยอดข้าวด้วยระบบ GPS (ครั้งแรกในประเทศไทย) และการใช้โดรนหว่านปุ๋ยเคมี และฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรค และแมลง ประกอบกับการจัดการด้านธาตุอาหารพืช การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงตามความต้องการของพืช และการจัดการโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ดิน ทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และผลผลิตเพิ่มมากขึ้น


นางสังวร พลอาสา ประธานกลุ่มจีไอ กู่กาสิงห์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา บ้านกู่กาสิงห์ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า ทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีวิธีการปลูกแบบทำตามๆ กัน ใครว่าปุ๋ยไหนดีก็ใส่ตามกัน และให้ปุ๋ยเหมือนเดิมทุกครั้ง ปลูกกันแบบบ้านๆ พึ่งแต่ฟ้าฝน ไม่มีเทคโนโลยีใดมาช่วยเลย ผลผลิตที่ได้คือไร่ละ 300 กิโลกรัม ราคาขายค่อนข้างดีก็พออยู่ได้

พอมาปีที่แล้วได้เข้าร่วมโครงการอบรมเกษตรกร การจัดการธาตุอาหาร และการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ความคิดและวิธีการปลูกข้าวแบบเดิมๆ ก็เปลี่ยนไป จึงได้เริ่มเปลี่ยนวิธีการปลูกตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมดิน การบริหารจัดการ การใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการเก็บเกี่ยว

เช่น วิธีการปลูกข้าวแบบเดิมๆ จะปลูกช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ก็จะเปลี่ยนมาเป็นกลางเดือน มิ.ย.-ต้นเดือน ก.ค. เพราะปลูกแบบเดิมมักเจอฝนทิ้งช่วงข้าวมักตาย จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเตรียมดิน ต้องเปลี่ยนความคิดอย่าเผาตอซัง และการใส่ปุ๋ยตรงตามสูตร และอัตราส่วนที่ถูกต้อง ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น