“จุรินทร์” ระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวนา เคาะยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี เน้นกลยุทธ์ “การตลาดนำการผลิต” เตรียมผลักดันผลิตข้าว 7 ชนิด ป้อนความต้องการของตลาดแต่ละกลุ่ม พร้อมเร่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ แก้ปัญหาอุปสรรคข้อติดขัด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ครั้งที่ 1/2563 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า เป็นการประชุมในเรื่องของยุทธศาสตร์ข้าว เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่จะต้องใช้ในปี 2563-2567 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเป็นการประชุมร่วมกันของทั้งส่วนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นเบื้องต้นว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่มีความชัดเจนว่าตลาดมีความสำคัญและจะเป็นตัวกำหนดการผลิตข้าวไทยต่อไปในช่วงระยะเวลา 5 ปีถัดจากนี้โดยมีเป้าหมายสำคัญก็คือ จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านการผลิตการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก
โดยตามยุทธศาสตร์จะมุ่งเน้นทำการผลิตข้าวเพื่อสนองความต้องการของตลาด 7 ชนิด คือ 1. ข้าวหอมมะลิ 2. ข้าวหอมไทย 3. ข้าวพื้นนุ่ม 4. ข้าวพื้นแข็ง 5. ข้าวนึ่ง 6. ข้าวเหนียว และ 7. ข้าวคุณภาพพิเศษที่มีตลาดเฉพาะ โดยข้าวทั้ง 7 ชนิดนี้ จะแบ่งตลาดออกเป็น 3 ตลาด คือ (1. ตลาดพรีเมียม ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมไทย (2. ตลาดทั่วไป ประกอบด้วยข้าวนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง (3. ตลาดเฉพาะ ประกอบด้วยข้าวเหนียวกับข้าวคุณภาพพิเศษ
“ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ผลผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว โดยเห็นสอดคล้องกันว่าในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ควรมุ่งเน้นการวิจัย การปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาพันธุ์ และการสร้างพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดให้มากขึ้น โดยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญ คือ มุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนสถาบันวิชาการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนาสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ใหม่ขึ้นมาให้มากขึ้น โดยการสนับสนุนของทางราชการ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคโดยกฎระเบียบก็จะตัดทอนให้หมด เพื่อทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันให้พันธุ์ข้าวไทยสามารถผลิตข้าวคุณภาพไปแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ” นายจุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทยประสบความสำเร็จ จะมีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ ไมว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนการส่งออก การขนส่ง ขั้นตอนกระบวนการ เพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยทั้งหมดนี้ ต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการนัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีก 2-3 ครั้ง โดยมีหลักการ คือ ขอให้การประชุมหารือทุกครั้งจะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมดให้ครบทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงภาควิชาการทั้งหมด