ราชบุรี - นายอำเภอเมืองราชบุรี พร้อม ส.ส.ราชบุรี เข้าตรวจสอบโบราณสถานภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ต.คูบัว อ.เมือง หลังถูกน้ำท่วมขังนานนับสัปดาห์จนมีกลิ่นเหม็น หวั่นทรุดตัว
วันนี้ (13 ต.ค.) นายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอเมือง จ.ราชบุรี พร้อมด้วย นางชญามาศ พิบูลแถว รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรีเขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เข้าตรวจสอบพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังโบราณสถานภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อ.เมือง
หลังถูกน้ำท่วมขังนานกว่าสัปดาห์จนน้ำเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็น ทางสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นำโดยนายณัฐพล ระดาฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาติดต่อหลายวัน ประกอบกับเครื่องสูบน้ำมีขนาดเล็กทำให้ระบายน้ำไม่ทัน จึงได้ประสานไปยังชมรมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยภาคตะวันตก มาช่วยอีก 1 เครื่อง
น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เปิดเผยแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นว่า จังหวัดและนายอำเภอไม่ได้นิ่งนอนใจ และทางกรมศิลปากรที่รับผิดชอบส่วนของโบราณสถาน พยายามหาแนวทางช่วยกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอดทุกปี ทางจังหวัดมีการนำเครื่องสูบน้ำมาเตรียมไว้ให้ อีกส่วนเป็นเครื่องสูบน้ำของกรมศิลปากร โดยหลวงพ่อได้ร่วมกับชาวบ้านนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยกันสูบน้ำอีกทางเพื่อช่วยกัน
ปัญหาน้ำท่วมตรงนี้ได้ทราบเรื่องมาตลอดโดยช่วงประมาณปี 2562 นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสมา ครม.สัญจรที่ราชบุรี ซึ่งโครงการเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบระบายน้ำที่บริเวณจุดนี้มีการบรรจุวันที่มีการประชุม ครม. เหมือนกัน ตอนนี้อยู่ในช่วงการออกแบบแนวทางที่จะเอาน้ำท่วมขังบริเวณนี้ระบายออกไปโดยใช้วิธีไหนอย่างไรได้บ้าง ในการช่วยกรมศิลปากรออกแบบวางแผน ซึ่งแบบที่ได้ต้องมาหารือกับทางวัดร่วมกับชาวบ้านในชุมชนเพื่อหาข้อสรุปว่า สุดท้ายจะเลือกแบบไหน หลังจากนั้น ทางกรมศิลปากรจะดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำจุดนี้ วันนี้จึงได้ช่วยประสานเครื่องสูบน้ำจากที่ต่างๆ มาช่วยเหลือหลายแห่ง ร่วมกับของชาวบ้าน กรมศิลปากร ขณะที่ตอนนี้ทาง ปภ.จังหวัดได้นำเครื่องสูบน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมใน อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคาอยู่ อ.ปากท่อ อ.จอมบึงอยู่ คงเหลือเครื่องสูบน้ำของมูลนิธิที่จะนำมาช่วยกันอีกแรงหนึ่ง
สำหรับหลักฐานด้านโบราณวัดโขลงสุวรรณคีรี เป็นโบราณสถานหมายเลข 18 เหลือเฉพาะส่วนฐานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้างตามแนวเหนือ-ใต้ 22.20 เมตร ความยาวตามแนวตะวันออก- ตะวันตก 43.50 เมตร โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นไปสู่ลานประทักษิณด้านบนยื่นยาวออกมาจากฐาน 23.4 เมตร ฐานโบราณสถานชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สูงประมาณ 1.45 เมตร ผนังตามความยาวของฐานโบราณสถานทางด้านเหนือและใต้จะมีมุขขนาดเล็กยื่นออกมา จำนวน 3 มุข มีการกำหนดอายุอยู่ในสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 12-17 ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2506