กรมศิลป์สางสารพัดปัญหาทำลายโบราณสถาน มีทั้งบูรณะผิดเพี้ยน-บุกรุก เร่งประกาศรายชื่อโบราณสถานทั่วประเทศ หวังสาธารณชนเห็นคุณค่าสมบัติชาติ
วันนี้ (11 ก.ย.) นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ดูแลรักษาแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้แก่ โบราณสถานทั่วประเทศ 7,786 แห่ง โดยประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 2,094 แห่ง ในส่วนของโบราณวัตถุที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมศิลปากรมีอยู่ 2,99,266 รายการ นอกจากนี้ ยังมีรายการโบราณวัตถุในครอบครองของวัดและเอกชนที่ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้วทั่วประเทศ 6,357 รายการ ซึ่งที่ผ่านมา กรมศิลป์ได้ดำเนินการดูแลอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ แต่อาจยังไม่ครอบคลุมทุกรายการ และอีกส่วนที่อยู่ในการครอบครองของบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ นั้น พบว่า ผู้ครอบครองไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ที่แท้จริง จึงทำให้เกิดปัญหา และเกิดการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ได้ถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในความครอบครองของวัดและเอกชน มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ผิดไปจากรูปแบบเดิม การรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้ผิดเพี้ยน การแก้ไขซ่อมแซมงานลงรักปิดทองโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในกระบวนการวิธีแบบดั้งเดิม การทาสีทอง สีชมพู หรือสีใดๆ ทับลงไปซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นของแท้ดั้งเดิม อีกทั้งยังส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน อีกทั้งยังได้มีการบุกรุกพื้นที่โบราณสถานเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นายประทีป กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ได้มีการรายงานเข้ามาจำนวนมาก กรมศิลป์จึงได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้ได้อย่างทันท่วงที ตนได้กำชับโดยเพิ่มนโยบายเชิงรุกในการปกป้องอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการเร่งดำเนินการประกาศรายชื่อโบราณสถานทั่วประเทศ เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบถึงความเป็นโบราณสถาน ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีอันทรงคุณค่าของชาติซึ่งน่าจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้ลดน้อยลง
นอกจากนี้ ยังให้เร่งรัดการขึ้นทะเบียนเอกสารโบราณในครอบครองของวัดและเอกชนในฐานะที่เป็นโบราณวัตถุ เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตลอดจนให้ความสำคัญกับเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม โดยดำเนินโครงการเผยแพร่ความรู้และแนวทางในการดูแลรักษาโบราณสถาน ให้แก่ พระสังฆาธิการ ฆราวาส ผู้สนับสนุนวัด อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเอกสารโบราณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินโครงการเป็นไปในทางที่ดี ทำให้โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีได้รับการดูแลตามหลักการอนุรักษ์ของกรมศิลป์มากขึ้น