บุรีรัมย์ - ชาวบ้านบุรีรัมย์ยื่นหนังสือ “ศรีสุวรรณ” ร้องตรวจสอบนายทุนทำถนนตัดผ่าป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาอังคาร พร้อมค้านยุติสัมปทานทำเหมืองหิน หวั่นทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กระทบความเป็นอยู่ ด้านศรีสุวรรณจ่อยื่นหนังสือหน่วยงานเกี่ยวข้อง
วันนี้ (6 ก.ย.) ที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่อำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ และอำเภอใกล้เคียง รวมตัวกันยื่นหนังสือผ่านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เพื่อขอให้ช่วยเดินเรื่องตรวจสอบกรณี มีนายทุนหรือผู้ประกอบการ ทำถนนตัดผ่านป่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) ตั้งแต่เขตพื้นที่ตำบลเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ-ตำบลถนนถนนหัก-ตำบลสะเดา อำเภอนางรอง รวมระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 7-10 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งหินจากแหล่งสัมปทานไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ที่สำคัญการก่อสร้างถนนยังขวางทางน้ำที่เคยไหลจากพื้นที่ป่าเขาอังคารลงไปยังพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน ก็ไม่สามารถไหลได้
ทั้งนี้ ชาวบ้านยังได้ร่วมกันคัดค้านไม่ให้ผู้ประกอบการสัมปทานพื้นที่ป่าเขาอังคารเพื่อทำเหมืองหินด้วย เพราะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่า แหล่งอาศัยสัตว์ป่า แหล่งทำมาหากิน และทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลอนุรักษ์มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หลังจากมีชาวบ้านร้องเรียนว่ามีนายทุนหรือผู้ประกอบการทำการสร้างถนนตัดผ่าเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) และพยายามจะทำให้ป่าดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อจะยื่นขอสัมปทานทำเหมืองหิน จึงได้เดินทางมารับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน และลงมาดูสภาพพื้นที่จริงด้วยตัวเอง ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบก็พบว่าเป็นไปตามที่ชาวบ้านร้องเรียนจริง
ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ถนนสายดังกล่าวเพิ่งก่อสร้างเมื่อประมาณต้นปี 2563 ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ทราบเลยว่าใครเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงในการอนุญาต และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่การก่อสร้างถนนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก เพราะมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อก่อสร้างถนน ทั้งในอนาคตก็จะทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าได้โดยง่าย เนื่องจากมีการสัญจรที่สะดวก และไม่สามารถควบคุมได้
ขณะเดียวกัน ถนนดังกล่าวมีการถมดินเป็นคันหนา ทำให้ตัดขวางทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าด้านล่างของถนนและพื้นที่ทางการเกษตรรอบชายป่าเสื่อมโทรม น้ำจากภูเขาไม่สามารถไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร อ่างเก็บน้ำ หรือที่นาข้าวของชาวบ้านได้ นอกจากนั้น เมื่อก่อสร้างถนนเสร็จได้มีรถบรรทุกหินขนาดใหญ่ วิ่งสัญจรเข้ามาขนถ่ายหินเข้าออกเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดเสียงดัง เกิดมลพิษด้านฝุ่นละอองที่ฟุ้งตลอดทั้งวัน รบกวนวิถีชีวิตของสัตว์ป่า และผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก
กรณีดังกล่าวชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมเพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงได้ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง และแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่จนบัดนี้เรื่องก็เงียบหาย ไม่มีหน่วยงานใดออกมาชี้แจงหรือแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
หลังจากลงพื้นที่มารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านแล้วจะได้ทำหนังสือสอบถามและร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดในระดับพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานในระดับกระทรวงด้วย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทำไมถึงปล่อยให้ผู้ประกอบการทำถนนผ่าเข้ามาในพื้นที่ป่าเขาอังคาร หากดำเนินการโดยไม่ถูกต้องจริงก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการ