xs
xsm
sm
md
lg

“สัปเหร่อ” กำลังขาดแคลน เรือนจำอุดรฯ เปิดติวเข้มนักโทษ 30 ชม.พ้นคุกมีงานทำชัวร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - ครั้งแรกของทัณฑสถาน โดยเรือนจำกลางอุดรธานีเปิดอบรมหลักสูตร “สัปเหร่อ” 30 ชั่วโมง เชิญวิทยากรทั้งพระสงฆ์และสัปเหร่อตัวจริงถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติเสมือนจริง มั่นใจหลังพ้นโทษยึดเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ เผยเป็นอาชีพที่กำลังขาดแคลนคนทำ มีนักโทษทั้งชาย-หญิงสมัครใจ 60 คน

โครงการฝึกอบรมสำหรับผู้ต้องขัง หลักสูตรเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน หรือ “สัปเหร่อ” ที่เรือนจำกลางอุดรธานีจัดขึ้นที่ศาลาคนกลับใจ ภายในเรือนจำเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่กรมราชทัณฑ์จัดอบรมหลักสูตรนี้ขึ้น โดยมีพระคุณเจ้าและเจ้าหน้าที่จากวัดสว่างสันติธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ยุติธรรมจังหวัดส่งบุคลากรมาเป็นวิทยาการร่วม

อาชีพ “สัปเหร่อ” ในปัจจุบันมีคนนิยมทำน้อยลง คนรุ่นใหม่ไม่เห็นความสำคัญ หันไปทำอาชีพรับจ้างอื่นกันหมด หลายวัดไม่มีสัปเหร่อประจำ หากมีงานศพคราใดก็ต้องไปจ้างสัปเหร่อจากวัดอื่นมาทำหน้าที่เป็นครั้งไป

หนังสือ "ประเพณีเนื่องในการตาย" ที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธน สันนิษฐานถึงคำ "สัปเหร่อ" ว่า น่าจะมาจากคำว่า สัปปุรุษ แปลว่าคนดี คำนี้ภาษาเขมรออกเสียงเป็น “สัปเหร่อ” ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2546 สัปเหร่อ (สับ-ปะ-เหร่อ) แปลว่าผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับศพ ตั้งแต่ทำพิธีมัดตราสัง จนกระทั่งนำศพลงฝังหรือเผา

จากงานวิจัยของ ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร เรื่อง "สัปเหร่อกับการจัดการศพของชุมชน" ระบุถึงหน้าที่หลักของสัปเหร่อเริ่มจากเตรียมเมรุเผาศพ โดยจะกวาดเถ้ากระดูกของศพที่เผาก่อนหน้าเพื่อไม่ให้ปะปนกับศพที่กำลังจะเผา และขอซื้อที่จากเทวดาเจ้าที่ชื่อ "ตากะลี ยายกะลา" ก่อนการเผา สัปเหร่อจะเปิดโลงและตัดด้ายที่มัดมือมัดเท้าของศพ

จากนั้นล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว เมื่อญาติๆ ผู้ตายช่วยกันเคลื่อนศพไปสู่เมรุแล้ว สัปเหร่อก็จะดำเนินการเผาตามขั้นตอน กินเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ


นายภัทรพงศ์ หมวกสกุล ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีภารกิจในการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดีสู่สังคม ลดการกระทำผิดซ้ำ โดยมีการจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาด้านจิตใจ เตรียมความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคม ให้สามารถปรับตัวเข้ากับชุมชน สังคม ดำรงชีวิตประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุขภายหลังพ้นโทษออกไป ซึ่งหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ฌาปนสถานหรือสัปเหร่อที่จัดขึ้น จึงเป็นการต่อยอดจากหลักสูตรด้านการพัฒนาจิตใจของกรมราชทัณฑ์ที่ทำอยู่แล้ว

เช่น หลักสูตรมัคนายก และหลักสูตรสัคคสมาธิ สมาชิกยกใจสู่สวรรค์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ต้องขังได้ศึกษา เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยที่มีความผูกพันกับศาสนาพุทธมาอย่างยาวนาน สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่งด้วย

เป็นการสนองต่อนโยบายของกรมราชทัณฑ์ ในการนำองค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ไม่ให้หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก


สำหรับหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ฌาปนสถานหรืออบรมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพสัปเหร่อของผู้ต้องขังเรือนจำอุดรธานีครั้งนี้ใช้เวลาอบรมทั้งหมดจำนวน 30 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค.นี้ นอกจากได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีแล้วยังมีการสาธิตเสมือนจริงอีกด้วย

นายกองเอก ปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ความเห็นว่า ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ น่าเรียนรู้ คำว่า “สัปเหร่อ” เป็นภาษาเก่า ฟังแล้วเข้าใจได้เลยว่าจะเป็นผู้ที่ทำพิธีให้ญาติผู้เสียชีวิต ถามว่าผีมีจริงไหม...ถ้าเราเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา พระคุณเจ้าต่างๆ ท่านบอกว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะมาปรากฏตัวให้เห็นหรือไม่ก็แล้วแต่ว่าคลื่นความถี่ของเราจะตรงกันไหม หรือเจตนาที่เขาอยากจะมาปรากฏตัวเพื่อเตือนหรือบอกอะไรก็แล้วแต่

"ทุกวันนี้สื่อหลายสื่อก็ยังเอาเรื่องลักษณะมิติของความตายมาล้อเล่นในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่พวกเราต้องใช้วิจารณญาณ ไม่ควรส่งเสริม” นายกองเอก ปราโมทย์กล่าว




ขณะที่นายภัทรพงศ์บอกว่า โครงการนี้เป็นครั้งแรกที่เรือนจำกลางอุดรธานีดำเนินการ เป็นผลสืบเนื่องจากท่านประธานกรรมการจริยธรรมของกรมราชทัณฑ์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมีความประสงค์ที่จะให้ต่อยอดโครงการพัฒนาพฤตินิสัย ก็เลยตัดสินใจนำร่องจัดอบรมเป็นรุ่นแรกของเรือนจำกลางอุดรธานี

ถือเป็นครั้งแรกของทัณฑสถานที่อบรมอาชีพสัปเหร่อให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นอีกความหวังหลังพ้นโทษออกไปแล้วจะได้ทำงานอาชีพสุจริต อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน


ผู้บัญชาการเรือนจำอุดรธานีบอกอีกว่า ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด รวมทั้งวัดที่ได้จัดวิทยากร ทั้งพระสงฆ์ และสัปเหร่อของวัดมาให้ความรู้ มีผู้ต้องขังเข้ารับการอบรมเป็นเพศชาย 40 คน เพศหญิง 20 คน

“ผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดล้วนสมัครใจและมีความหวังว่าเมื่อพ้นโทษออกไปแล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งสัปเหร่อเป็นอาชีพที่ขาดแคลน โดยเฉพาะในวัดวาอารามต่างๆ ก็หวังว่าผู้ต้องหาจะนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้” นายภัทรพงศ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น