รัฐสภา - วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 407 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 มีคณะกรรมาธิการกีฬาและที่ปรึกษาฯ เข้าร่วม ประชุมครั้งนี้ยังคงติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 19 เมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 เรื่องการจัดหางบประมาณเพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มนักกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)
ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เลขานุการฯ, ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการกีฬาฯ และนายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือนักกีฬาและผู้ประกอบการทางการกีฬา ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ นับจากห้วงเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงปัจจุบัน นักกีฬาและผู้ประกอบการทางการกีฬายังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหานี้คณะกรรมาธิการกีฬาสภาผู้แทนราษฎร โดย ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ป.กมธ.กีฬาฯ ให้ความสำคัญและได้มอบหมายให้ ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม เป็น ป.อนุกรรมาธิการมีหน้าที่ติดตามปัญหากับนักกีฬาที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 พบว่าปัญหาการช่วยเหลือ สงเคราะห์นักกีฬาและผู้ประกอบการ ไม่มีเอกภาพ ไม่ใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
ซึ่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ให้อำนาจ หน้าที่ชัดแจ้งต่อการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
โดยมีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือนักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 (1) ให้อำนาจ กกท.กระทำกิจกรรมต่างๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 8 และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง (1) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพย์สินต่างๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่น ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง ทำการแลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ (3) ให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ กกท. ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมาธิการกำหนด”
นายยุทธนากล่าวต่อว่า โดยสรุป พ.ร.บ.นี้คือเครื่องมือในการทำงาน เพราะประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย การตรา พ.ร.บ.นี้ก็เป็นเครื่องมือให้อำนาจแก่ กกท.และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้ทำงาน แต่กลับไม่หาทางช่วยเหลือ มีการใช้วิธีการตีความไปต่างๆ นานา ทั้งที่หลักของกฎหมาย ด้วยทฤษฎีการตีความกฎหมายต้องไม่ให้เกิดทางตัน
อีกทั้งในขั้นตอนการช่วยเหลือ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยถือเป็นเลขาฯ ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ก็มีหน้าที่ในการส่งเรื่องไปยังคณะกลั่นกรอง จากนั้นก็ส่งให้ผู้รับผิดชอบอนุมัติ (กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ) แต่ปัจจุบันกลับเกิดปัญหาการขัดกัน จึงทำให้การช่วยเหลือล่าช้า จึงขอให้ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายได้ยึดแนวทางใน พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 นี้ด้วย
ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเตรียมการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 เริ่มต้นการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเข้าชี้แจงแนวทางต่อคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร คำแนะนำของคณะกรรมาธิการกีฬาครั้งนี้จะนำกลับไปทบทวนโดยเฉพาะขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายใน พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
“ยอมรับว่าใน พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถที่จะให้นักกีฬายืมเงินได้ ซึ่งก็จะต้องดูขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นด้านการช่วยเหลือที่ดำเนินการไปแล้ว เร็วๆ นี้จะมีการจ่ายเงินให้กับนักกีฬาอาชีพและมวยรวมเป็นเงินกว่า 40 ล้านบาท ส่วนแนวทางในอนาคตก็จะนำกลับไปพัฒนาและใช้ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทยฉบับนี้ให้มากขึ้น” ดร.ก้องศักดิ์กล่าวในที่สุด
ด้าน ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ป.กมธ.กีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้สรุปเกี่ยวกับการใช้จ่าย อนุมัติให้ใช้เงินเหลือจ่ายของกีฬาอาชีพและกีฬามวยเพื่อไปเยียวยานักกีฬา ว่าทำอย่างไรเป็นลายลักษณ์อักษร และขอให้รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณหรือการบริหารจัดการของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 3 ปีย้อนหลังต่อคณะกรรมาธิการฯ
นอกจากนี้ ขอให้ทางผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยช่วยดูในเรื่องรายละเอียดข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือนักกีฬาต่อไป