ผู้จัดการออนไลน์ - วันนี้ ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 มีคณะกรรมาธิการกีฬา, ที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน การพิจารณาครั้งนี้เป็นการศึกษาปัญหาการถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีก
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล โฆษกคณะกรรมาธิการกีฬาฯ ได้เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาถกจากปัญหาโรคไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 กระทบต่อการแข่งขันกีฬาฟุตบอลไทย กมธ.กีฬาฯ จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ประกอบด้วย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มอบให้ นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย และ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ ผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ส่วนการกีฬาแห่งประเทศไทย ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย
ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ไม่ได้มาและไม่ได้มอบหมายผู้ใดเข้าร่วมประชุม แต่ได้ตอบเป็นเอกสารว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกฯ มิได้มีปัญหาใดๆ และในห้วงเวลานี้ยังไม่สามารถจัดการแข่งขันได้เนื่องจากกำลังรอข้อสรุปของคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมด้านการกีฬาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การชี้แจงครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่ง กมธ.กีฬาฯ แสดงความเป็นห่วงกีฬาฟุตบอลของประเทศไทย เพราะสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยไม่สามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกได้ ถือเป็นการผิดสัญญากับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสัญญาในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 1,200 ล้านบาท ให้กับทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่จะนำไปจ่ายบำรุงนักกีฬาและบุคลากรในสโมสรฯ และได้มีการเปรียบเทียบความพยายามในการประคองกีฬาอื่นที่มีสัญญากับบริษัททรูฯ แต่ก็ยังสามารถผ่านวิกฤตและจัดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านไปได้
นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 ชัดเจนว่ายอดเงินที่ทางบริษัททรูฯ ต้องจ่ายในสัญญาปีสุดท้ายให้สมาคมกีฬาฟุตบอลประเทศไทยจะอยู่ที่ราว 1,200 ล้านบาท แต่ติดปัญหาโควิด-19 ตลอดระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาทำให้ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลเกิดขึ้น และจะสิ้นสุดสัญญาถ่ายทอดสดไทยลีกในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เมื่อไม่มีการแข่งขัน ในด้านสัญญาทางบริษัททรูฯ ก็ไม่สามารถที่จะจ่ายเงินให้สมาคมฟุตบอลฯ ได้
โดยเฉพาะเงินที่ทางบริษัททรูฯ ต้องชำระ นั่นหมายถึงการบำรุงดูแลนักกีฬาและสโมสร แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าทางบริษัททรูฯ เองก็ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เช่นกัน อีกทั้งสัญญาครั้งนี้คืองวดสุดท้าย หมายถึงว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาบริษัทที่รับสัมปทานต่อไปก็ไม่ใช่บริษัททรูฯ เมื่อรู้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีโรคไวรัสนี้ ทางบริษัทฯ ก็ได้จัดผังรายการใหม่รองรับเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ทางธุรกิจเช่นกัน
หากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ สามารถจัดการแข่งขันให้ได้ ทางบริษัททรูฯ ก็พร้อมที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้อย่างเต็มที่ จึงขอให้เข้าใจ
ด้านนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด กล่าวว่า การเข้าชี้แจงครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลซึ่งไม่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยหรือ ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ที่มี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เป็นนายกสมาคมฯ และเป็นประธานบริษัทฯ เนื่องจากติดภารกิจ และที่มาให้ข้อมูลก็พูดในฐานะที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร
เรื่องนี้เท่าที่ทราบปัญหาทุกอย่างเกิดจากโรคไวรัสโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้สัญญาที่ได้ทำกับบริษัททรูฯ ทางบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกฯ ก็ได้รับเงินมาโดยตลอด ซึ่งได้เซ็นสัญญาไว้ในช่วงปลายปี 2015 มีระยะเวลา 4 ปี มูลค่า 4,200 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ อีกทั้งนักเตะส่วนใหญ่ตามสโมสรต่างๆ ก็เป็นชาวต่างชาติที่ได้เดินทางกลับบ้านหลังมีการแพร่ระบาดและจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถกลับมาได้จึงทำให้เตรียมทีมไม่ทัน อีกทั้งการเตรียมทีมเอาเข้าจริงก็ต้องใช้เวลาถึง 4 เดือน
ในกรณีนี้ทราบว่าจะสามารถกลับเข้ามาเตะได้ภายในวันที่ 12 กันยายนนี้ ซึ่งก็จะสิ้นสุดสัญญาและไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร เพราะในศึกไทยลีกนี้เพิ่งจัดไปได้ 4 นัดและเหลืออยู่ 26 นัด ซึ่งก็คงจะได้รับเงินสนับสนุนเท่าที่ทำได้
ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาผลกระทบโควิด-19 เบื้องต้นหลักเกณฑ์การช่วยเหลือนักกีฬาอาชีพใน 13 ชนิดกีฬาเหมือนกัน ซึ่งฟุตบอลเป็นหนึ่งในนั้น และที่ผ่านมาไม่มีโรคโควิด-19 กกท.ได้สนับสนุนกีฬาฟุตบอลไป 16 ล้านบาท แต่เมื่อมีสปอนเซอร์ กกท.ก็ไม่ได้เข้าสนับสนุน ต่อมาเมื่อมีปัญหาโรคโควิด-19 สมาคมฟุตบอลฯ ได้มีหนังสือขอสนับสนุนใน T1 และ T2 กกท.ได้ทำการสนับสนุนในเรื่องเงินรางวัลไทยลีก 1 จำนวน 17 ล้านบาท และไทยลีก 2 จำนวน 9 ล้านบาทเศษ และถ้ารวมถึงไทยลีก 3 จะสนับสนุนประมาณ 44 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในการสนับสนุนอื่นไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัล และผู้ตัดสินฯ ใน 3 ระดับ จะมีอัตราให้การสนับสนุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ 2556 อยู่แล้ว
ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเพราะชัดเจนว่าทางบริษัททรูฯ นั้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แต่ก็พร้อมที่จะถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลไทยลีก และเมื่อครบก็พร้อมที่จะชำระเงินที่เหลือให้เต็มที่ แต่ทางบริษัทพรีเมียร์ลีกฯ ไม่สามารถจัดการแข่งขันให้ได้ กรณีนี้คงเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อประคองฟุตบอลไทย จึงขอให้สมาคมฟุตบอลฯ กลับไปทบทวนการวางแผน
เพราะในอนาคตผู้สนับสนุนไทยลีกรายใหม่อาจจะยกเลิกการสนับสนุนได้อีก และเชื่อว่าสมาคมฟุตบอลและสโมสรแต่ละจังหวัดซึ่งเคยมีผู้สนับสนุนฟุตบอล ก็ยังมีข่าวการยกเลิกสปอนเซอร์เช่นกัน จึงฝากสมาคมฟุตบอลฯ ไปศึกษาแนวทางการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์อย่างไรเพื่อให้นักกีฬาฟุตบอลได้ประโยชน์สูงสุด
“ขณะนี้สมาคมฟุตบอลฯ ควรจะหาวิธีให้มีการจัดการแข่งขัน และควรที่จะถามสโมสรว่าพร้อมเตะหรือไม่เพื่อที่จะไม่ผิดสัญญากับทาง “บริษัททรู” ซึ่งจะเป็นที่มาของปัญหาขาดงบช่วยเหลือ และขอให้ทาง กกท.หาวิธีช่วยเหลือสนับสนุนกีฬาฟุตบอลลีกให้สามารถเดินหน้าต่อไป” ดร.บุญลือกล่าว