กาญจนบุรี - กรมอุทยานฯ ปลูกป่า หลังยึดพื้นที่กว่า 30 ไร่ คืนจากนายทุนใหญ่เจ้าของห้างดังกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน
วันนี้ (29 ก.ค.) นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ นางคณิสรา เชฐบัณฑิตย์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นอนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และประชาชนในท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันปลูกป่าใน "โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า" ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ บริเวณพื้นที่บ้านท่ากะทิ หมู่ 6 ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน
ซึ่งเป็นไปตามนโยบายนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ให้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ที่นายทุนบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด เพื่อนำมาฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอีกทางหนึ่งให้แก่ประชาชน
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวได้ยึดคืนมาจากนายทุนใหญ่เจ้าของห้างดัง ชาวกรุงเทพมหานคร เป็นที่ดินตามมติ ครม.30 มิ.ย.2541 ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จำนวน 39 ไร่ ที่นายทุนได้ซื้อมาจากราษฎรเดิมที่อยู่ในหมู่บ้าน ที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือราษฎรผู้ยากจน ให้ผ่อนผันอยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติได้ แต่ห้ามมีการซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ หรือโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าว และนายทุนใหญ่ เจ้าของห้างชื่อดังได้ถูกแจ้งความดำเนินคดี เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2560 ในข้อหายึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณโดยมิได้รับอนุญาต
ต่อมา วันที่ 8 มี.ค.61 อัยการจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งไม่ฟ้องนายทุนใหญ่ เจ้าของห้างชื่อดัง โดยสรุปคำวินิจฉัยได้ว่า "ราษฎรเจ้าของที่ดินเดิมที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยหรือทำกินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้มาขอกู้ยืมเงินกับผู้ต้องหา เป็นจำนวนเงิน 2,750,000 บาท และได้นำที่ดินที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยหรือทำกินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณดังกล่าวมาค้ำประกันเงินกู้ยืม กับผู้ต้องหาเอาไว้ โดยมีสัญญาชำระเงินกู้ยืมคืนภายใน 6 ปี จึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นเจ้าของผู้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง"
แต่ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำนิติกรรมอำพราง โดยทำนิติกรรมสัญญากู้เงิน อำพราง นิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นการขัดกับกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง
ถึงแม้อัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้นายทุนใหญ่เจ้าของห้างดังหลุดพ้นในคดีอาญา แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ยังมีอำนาจทางปกครองฟ้องขับไล่ยึดคืนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินได้
จึงแจ้งให้นายทุนใหญ่เจ้าของห้างดัง ให้ออกจากที่ดิน มิฉะนั้นจะประกาศคำสั่งขับไล่ ตามมาตรา 35 (1) พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ฉบับใหม่ หากฝ่าฝืนไม่ยอมออกจากที่ดิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 1 หมื่นจนกว่าจะออกจากที่ดิน ซึ่งต่อมาทางนายทุนใหญ่เจ้าของห้างดังได้ยินยอมออกจากที่ดินแต่โดยดี
ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จึงได้นำที่ดินที่ได้ยึดคืนมา จำนวน 39 ไร่ มาปลูกป่าเพื่อแสดงความจงรักภักดีตาม "โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า" ด้วยการนำไม้ป่ามีค่ามาปลูกเสริมเข้าไปในพื้นที่ เช่น ไม้ประดู่ แดง มะค่าโมง พะยูง ตะเคียนทอง สัก และอื่นๆ รวมจำนวน 1,000 ต้น เพื่อให้ป่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพสมบูรณ์โดยเร็ว
และเพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกซ้ำในอนาคตเพราะที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในทำเลที่สวยงาม ติดกับถนนทางหลวงในเขตชุมชน จึงได้ทำป้ายหินเทียมไม้ติดไว้หน้าพื้นที่อย่างถาวร และตั้งชื่อในพื้นที่แห่งนี้ใหม่ว่า "สวนป่าธรรมชาติเอราวัณ" ดำเนินการโดยอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ขอให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันว่า บริเวณแห่งนี้ตกเป็นสมบัติของส่วนรวม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ป่ามีค่าของประชาชนในท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปตลอดไป” นายนิพนธ์ กล่าว