ร้อยเอ็ด - อธิบดีกรมฝนหลวงลงพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้รับฟังปัญหาภัยแล้ง-นาข้าวขาดน้ำยืนต้นรอแห้งตาย พร้อมบินขึ้นสำรวจเมฆ-สัมพัทธ์อากาศเตรียมบินขึ้นทำฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกร เผยแม้ยังช่วยให้ฝนตกได้ไม่เต็มที่แต่ก็ยังไม่หมดหวัง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วย นายแทนไท พลหาญ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 10 จังหวัด นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่พบปะพูดคุย ให้คำปรึกษา-รับฟังปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งอันสืบเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย และเครือข่ายใน 13 ตำบล 175 หมู่บ้าน ราษฎร 9,000 ครัวเรือน โดยนาข้าวกว่า 176,000 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ประสบปัญหาขาดแคลนฝนมาตั้งแต่ต้นฤดู จนถึงปัจจุบันอยู่ในสภาพแห้งเฉารอยืนต้นตาย
การลงพื้นที่ของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงครั้งนี้เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ที่จะขึ้นบินทำฝนหลวงช่วยเหลือนาข้าวที่เริ่มแห้งตาย
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การแก้ปัญหาภัยแล้งภาคอีสานนั้น มีฐานปฏิบัติการอยู่ 2 ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติการ จ.ขอนแก่น รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานเหนือ 10 จังหวัด และอีกศูนย์รับผิดชอบอีสานกลาง 10 จังหวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งทั้งสองศูนย์ได้ปฏิบัติการอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
โดยตั้งศูนย์อีสานกลาง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-25 ก.ค. 63
สามารถขึ้นบินทำฝนหลวงได้ 51 วัน 223 เที่ยวบิน มีผลฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 46 วัน ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี สามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง
แม้จะยังไม่เต็มพื้นที่ ก็จะมีการดำเนินการต่อไปจนกว่าจะหมดห้วงระยะของฝนทิ้งช่วง คาดว่าน่าจะหมดภายในเร็วๆ นี้
สำหรับการบินสำรวจสภาวะเมฆในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และเขตจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่าสภาวะความสัมพัทธ์อากาศในระดับความสูง 10,000 ฟุตเป็นที่น่าพอใจ ร้อยละ 60% แต่ในระดับ 6,000 ฟุต ความสัมพัทธ์อากาศต่ำกว่าที่จะสามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงได้
ต้องรอให้รวมตัวกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในก้อนเมฆมากขึ้นจนพอที่จะทำให้กลายเป็นเม็ดฝนได้ก็จะเข้าดำเนินการทันที