เชียงใหม่ - อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรนำร่วมกิจกรรมปั้นเมล็ดพันธุ์พืชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความร่วมมือศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน-กองบิน 41 เตรียมโปรยทางอากาศปลูกป่าสร้างความชื้นเพิ่มประสิทธิภาพฝนหลวง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นประธานในพิธีปั้นเมล็ดพันธุ์พืชในโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศสร้างความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และประชาชนจิตอาสา ร่วมกิจกรรม วานนี้ (17 ก.ค. 63) ที่อาคารเดชะตุงคะ กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศสร้างความชื้นสัมพัทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ขึ้น เพื่อสืบสานศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพิ่มโอกาสการเกิดฝน ทำให้การปฏิบัติการฝนหลวงประสบผลสัมฤทธิ์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในการดำรงชีวิตและการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน
โดยน้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ความว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า” มาสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย และร่วมฟื้นฟูสภาพผืนป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ จะทำการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ มะค่าโมง จำนวน 41 กิโลกรัม และสมอไทย จำนวน 5 กิโลกรัม ณ บริเวณอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดตาก จะทำการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ มะค่าโมง จำนวน 20 กิโลกรัม และประดู่ จำนวน 2 กิโลกรัม ณ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จังหวัดตาก
ส่วนในการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ จะเป็นการดำเนินการภายหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ประสบปัญหาภัยแล้งในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน เกษตรกร ตลอดจนพื้นที่ผืนป่าให้มากที่สุด