จันทบุรี - แล้งหนักอาจกระทบชาวสวนลำไยใน 2 อำเภอของ จ.จันทบุรี หลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ แหล่งน้ำสำคัญสำหรับภาคเกษตรที่เคยมีน้ำมากถึง 76 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือเพียง 6 ล้านลบ.ม. หน่วยงานพื้นที่ต้องประกาศปิดอ่าง หลัง 13 ก.ค.นี้
วันนี้ (9 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ แหล่งน้ำสำคัญสำหรับเกษตรกรชาวสวนใน อ.สอยดาวและ อ.โป่งน้ำร้อน ว่าจากเดิมที่เคยมีน้ำเต็มตลอดทั้งปีโดยมีปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง แต่ในวันนี้แทบไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่ ซ้ำยังมีหญ้ารวมทั้งวัชพืชแผ่เต็มพื้นที่ทำให้ชาวสวนลำไยต้องใช้วิธีสูบน้ำที่เหลือติดอ่างขึ้นมารดต้นไม้ในสวน ขณะที่บางรายต้องขุดพื้นอ่างฯเพื่อรอรับน้ำฝน โดยสภาพดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้รับน้ำโดยตรงจากเทือกเขาสอยดาว ซึ่งถือเป็นเทือกเขาต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายในภาคตะวันออก เช่น แม่น้ำจันทบุรี คลองด่าน คลองกั้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา คลองพระสะทึง จ.สระแก้ว แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
ขณะที่ นายพีรณัฐ รัตนโอภาส นายอำเภอโป่งน้ำร้อน รวมถึง นายปกครอง บุญชูกุศล นายอำเภอสอยดาว จ.จันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 อำเภอได้ร่วมประชุมเพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำที่เหลืออยู่ให้มากที่สุด
รวมทั้งให้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการลักลอบหรือขโมยสูบน้ำในอ่างคลองพระพุทธ ภายใต้มาตรการตั้งแต่เบาไปหาหนัก ก่อนได้ข้อสรุปว่าจะให้ทุกครัวเรือนใน อ.โป่งน้ำร้อน ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธได้อีกเพียง 10 วัน คือนับจากวันที่ 3 ก.ค. ไปจนถึงวันที่ 13 ก.ค.2563 จากนั้นจะทำการปิดอ่างเก็บน้ำดังกล่าวในทันที
ด้าน ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร ประธานคณะกรรมการจัดการชลประทาน อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ เผยว่า อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ถือว่าอยู่ในสภาพวิกฤตอย่างยิ่งเนื่องจากปกติจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 76 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในเวลานี้กลับมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 6 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำในอ่าเหลือน้อยเป็นประวัติการณ์ก็เพราะนับตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ไม่มีฝนตกจนส่งผลให้ตามลำคลอง หรือลำธารธรรมชาติไม่มีน้ำกับเก็บ ซึ่งจากนี้จะให้ชาวสวนผลไม้ได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ก่อนจะยุติการอนุญาตให้ใช้น้ำในอ่างดังกล่าว
และหากนับจากนี้พื้นที่ อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ยังไม่มีฝนตกลงมาก็เชื่อว่าความเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำกินน้ำใช้จะทวีความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้