น่าน - อพท.เปิดโรดแมป 8 ปีหนุน “เมืองเก่าน่าน” ขึ้นชั้นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ยูเนสโก (UNESCO)
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เปิดเวทีสร้างการรับรู้ และความเข้าใจการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ เขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดน่าน "เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน"
โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม ที่ห้องประชุม 401 ชั้น 4 อาคารวิชชาคาม 1 ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. บรรยายพิเศษเรื่อง การยกระดับเมืองน่าน สู่มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามหลักเกณฑ์ 41 ด้านของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) หรือ GSTC พร้อมเปิดโรดแมป เป้าหมายความสำเร็จ..น่านเมืองเก่าที่มีชีวิตอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ปี 2563-2570 เพื่อให้ได้รับการรับรองจาก Green Destinations หรือ GD ซึ่งเป็นองค์กรมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับโลก และยังมีผลต่อการตลาดการท่องเที่ยวนานาชาติ
ปี 2563-2564 ได้คัดเลือกพื้นที่พิเศษตำบลในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ที่มีศักยภาพ เพื่อสมัครเข้าสู่รางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน Sustainable Destinations Top 100 และผลักดันให้ได้สถานะสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน ของยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งปัจจุบันมี 246 เมือง จาก 84 ประเทศ เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ และประเทศไทย มี 4 จังหวัดที่ได้เป็นสมาชิกแล้ว คือ ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร, เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน, กรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และสุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน
ส่วนปี 2565-2570 จะขับเคลื่อนเพื่อรับการรับรอง Green Destinations Standard ของ GD ที่แบ่งเป็นระดับต่างๆ ได้แก่ รางวัลระดับทองแดง ระดับเงิน ระดับทอง และสูงสุดคือระดับแพลทินัม ซึ่งหากสามารถคว้ารางวัลและได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่น่าเชื่อถือในระดับนานาชาติแล้ว ก็จะทำให้ได้รับข้อเสนอแนะและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การยอมรับจากนานาประเทศ ภาพลักษณ์ การรับรู้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเป็นแหล่งศึกษาดูงาน มีการเผยแพร่เรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวในเวทีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเติบโตในตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลกและภาพลักษณ์ของจังหวัดและของประเทศไทยด้วย
รองผู้อำนวยการ อพท.ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า คณะทำงานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ประเมินพื้นที่พิเศษตำบลในเวียง อ.เมืองน่าน ภายใต้หลักเกณฑ์ 41 ด้านของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) หรือ GSTC พบว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษที่มีผลสัมฤทธิ์ของการนำไปปฏิบัติตามเป้าหมาย ในเกณฑ์สีเขียว 10 ด้าน อยู่ในระดับที่มีมาตรการและการนำไปปฏิบัติในกลุ่มเป้าหมาย คือระดับสีเหลือง 22 ด้าน และมีมาตรการและกิจกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับสีชมพู 9 ด้าน โดยไม่มีด้านใดเลยที่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูงและต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน หรืออยู่ในเกณฑ์ระดับสีแดง
เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอื่นแล้ว พื้นที่ตำบลในเวียง อ.เมืองน่าน มีผลการประเมินอยู่ในระดับสีเขียวและสีเหลืองมากที่สุด และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่จะสามารถเข้าสู่ Sustainable Destinations Top 100 ซึ่งเป็นรางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือและศักยภาพทั้งหมดนี้ จะทำให้จังหวัดน่านสามารถยกระดับสถานะเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของยูเนสโก (UNESCO) ได้