นครพนม - บรรยากาศท่องเที่ยวเมืองริมโขงนครพนมเริ่มคึก นักท่องเที่ยวและประชาชนพากันพักผ่อนล่องแพ @หนองหวาย คลายร้อนคลายเครียดจากเชื้อโควิด-19 ระบาดมานานหลายเดือน เผยชาวชุมชนท้องถิ่นดีใจจะมีรายได้หมุนเวียนจากการขายสินค้าและบริการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในห้วงนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ จ.นครพนม เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังมีการคลายล็อกระยะที่ 3 โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวอันซีนทางธรรมชาติหนองหวาย พื้นที่ ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม มีประชาชน นักท่องเที่ยว ทยอยเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อน ล่องแพชมธรรมชาติ ชิมเมนูอีสาน และเล่นน้ำคลายร้อน ผ่อนคลายหลังเครียดกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดมานานพอควร ขณะที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเองก็ดีใจเพราะจะมีรายได้จากการค้าขายอีกครั้ง หลังต้องปิดบริการท่องเที่ยวมานานร่วม 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านที่ให้บริการล่องแพยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอย่างเข้มงวด ทั้งคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการก่อนเข้าพื้นที่ รวมถึงการจำกัดจำนวนคนลงแพไม่เกิน 10 คน นอกจากนี้ยังงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่ขาดไม่ได้คือจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้นักท่องเที่ยวทุกคนสวมก่อนลงเล่นน้ำ มีเรือลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยอีกด้วย
นายเหรียญ ชิตภักดิ์ อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มล่องแพหนองหวาย เล่าว่า “หนองหวาย” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ เดิมชาวบ้านใช้ทำการเกษตร มีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ เชื่อมกับสายน้ำก่ำ ก่อนไหลลงน้ำโขง จากนั้นได้รับการพัฒนาขุดลอกเพื่อให้มีน้ำเก็บกักตลอดปี ต่อมาชาวบ้านจึงได้หารือกันวางแนวทางในการพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ นวัตวิถี จึงมีการจัดตั้งกลุ่มล่องแพขึ้น เพื่อบริการประชาชน นักท่องเที่ยว ได้มาเที่ยวพักผ่อนล่องแพ ชมธรรมชาติ ชิมเมนูอาหารอีสาน และเล่นน้ำคลายร้อน
ที่สำคัญช่วยให้ชาวบ้านมีงานมีรายได้ตลอดปี โดยปัจจุบันมีการพัฒนาเปิดแพบริการมากถึง 10 หลัง แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ต้องปิดบริการไปหลายเดือน แต่พอมีการผ่อนคลายระยะที่ 3 ทำให้ได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง มีประชาชน นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ
“อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มล่องแพของเราได้วางมาตรการเข้มงวดในการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนที่จะเข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวพักผ่อน โดยจำกัดคนลงแพไม่เกิน 10 คน และห้ามจำหน่าย หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายเหรียญกล่าว
สำหรับราคาค่าบริการ ชั่วโมงแรก 250 บาท หลังจากนั้นชั่วโมงละ 100 บาท หากเหมาจ่ายวันละ 1,050 บาท ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำไร่ทำนา การจัดสรรรายได้ จะแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน ทุกเดือนจะมีการสรุปรายได้ หักค่าใช้จ่ายกองกลาง เก็บกลุ่มละ 250 บาทต่อแพ 1 ลำ เพื่อนำมาเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน เหลือจากหักต้นทุนจะแบ่งผลกำไรในกลุ่ม ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ เดือนละประมาณ 5,000-10,000 บาท ต่อคน
อย่างไรก็ตาม หลังได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ขอให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ปฏิบัติตามกฎระเบียบเข้มงวด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะได้เปิดบริการได้ต่อเนื่อง มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนท้องถิ่น