xs
xsm
sm
md
lg

นายก ส.ไก่ฯ แนะรัฐไม่อยากเห็นครึ่งปีหลังธุรกิจพัง จี้แบงก์ปล่อยกู้ พักชำระหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ แนะรัฐไม่อยากเห็นธุรกิจพัง คนตกงานอีกเพียบในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องจี้แบงก์ปล่อยกู้ พักชำระหนี้ภาคธุรกิจรายใหญ่ ชี้โควิด-19 ทำยื้อจนใกล้สุดสายป่าน เผยยังไม่เห็นมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่แท้จริง

วันนี้ (1 มิ.ย.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทยได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ว่า หากรัฐบาลยังไม่เร่งจี้แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ให้ปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการพักชำระหนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้

ก็อาจได้เห็นภาพของภาวะเศรษฐกิจที่จะตกต่ำอีกยาวจากปัจจัยที่นักลงทุนเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ไม่ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและพักชำระหนี้ และภาพต่อมาก็คือการปิดตัวของธุรกิจขนาดใหญ่และจำนวนคนที่ต้องตกงานเพิ่มขึ้นอีกมาก


“ยกตัวอย่างแค่ของฉวีวรรณกรุ๊ป เรามีฟาร์มที่อยู่ในการดูแลหลายพันครอบครัวและยังมีคนงานอีกหลายพันคน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เงินสดที่จะใช้หมุนเวียนในธุรกิจหยุดชะงักจากกำลังซื้อในประเทศที่ตกต่ำ ส่วนคู่ค้าต่างประเทศชะลอคำสั่งซื้อแต่รัฐบาลกลับไม่หนุนให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเงินพยุงธุรกิจ ผิดกับครั้งเกิดวิฤตไข้หวัดนกเมื่อ 10 ปีก่อนที่กระทรวงการคลัง กล้าอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นผู้ประกอบการก็สามารถหาเงินใช้คืนได้หมด”

ดร.ฉวีวรรณ เผยถึงการส่งออกเนื้อไก่ไทยในครึ่งปีแรกว่า ทิศทางยังคงสดใสเพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีออเดอร์เก่าตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 การบริโภคในประเทศก็ตกต่ำถึงที่สุดเนื่องจากคนต้องหยุดงานและไม่มีรายได้ ประกอบกับเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดยาวทำให้ โรงงานผลิตไส้กรอกและลูกชิ้นต้องลดกำลังผลิตตามไปด้วย

“ฉวีวรรณกรุ๊ป พยายามเน้นการส่งออกให้มากที่สุด โดยตัวเลขการส่งออกของเราอยู่ที่ 80% ส่วนการขายในไทยมีเพียง 20% ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกยังเป็นไปตามปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ยอดขายทั้งในสหภาพยุโรป อังกฤษ รวมทั้งญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลักเริ่มชะลอเพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์และเมื่อขณะนี้โควิด-19 เริ่มคลี่คลายก็เชื่อว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังไม่น่าจะเลวร้ายอย่างที่คิด”


อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์โควิด-19 ของไทยยุติได้ในเดือน ก.ค.ก็เชื่อว่ากำลังซื้อในไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวเช่นเดียวกับความมั่นใจของคู่ค้าต่างประเทศที่จะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คำสั่งซื้อตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของกลุ่มประเทศแถบสหภาพยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น กลับมาตามความต้องการอาหารเพื่อการเฉลิมฉลองที่มีมากขึ้น


ขณะที่ภาพรวมการส่งออกเนื้อไก่ไทยในปีนี้ น่าจะลดต่ำกว่าปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณแสนล้านบาทไม่น้อยกว่า 10% เพราะแม้ว่าประเทศจีนจะมีความต้องการเนื้อไก่จากไทยมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย แต่ตลาดส่งออกในมาเลเซียซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก ก็ยังติดปัญหาเรื่องการปิดจุดผ่านแดน

“ที่ผ่านมา สมาคมฯ เคยทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้หามาตรการเยียวยาและแก้ไขแต่ก็ไม่เคยได้รับความสนใจ ผิดวิสัยของความเดือดร้อนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ แค่เพียงจี้ให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการประคองตัวได้ก็ยังไม่ได้รับการดูแล แต่รัฐกลับเลือกวิธีแจกเงินไปทั่ว แต่ภาคธุรกิจกลับไม่หนุนเงินเข้าระบบให้เขาสามารถเลี้ยงลูกน้องได้และยังสามารถดูแลไปไกลถึงภาคการเกษตร”

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย หนุนให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจ รวมทั้งการพักชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีปัญหาจากการผลิตสินค้าแต่ยังขายไม่ได้จากพิษโควิด-19


และหากรัฐบาลยังไม่ทำเช่นนี้ก็เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน

"หลังจากนี้ไปมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ และหากสายป่านหมดก็จะแย่จนอาจเกิดภาพการปิดตัวของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการเลยจุดของคำว่าขาดทุนไปแล้ว แต่ทุกคนก็พร้อมจะสู้แต่รัฐไม่ควรปล่อยให้ดำเนินธุรกิจกันตามยถากรรม เนื่องจากตอนนี้ผู้ประกอบการเข้าขั้นลำบาก และต่างคนต่างอยู่โดยไม่สามารถช่วยเหลือกันได้เพราะทุกคนต้องประคองธุรกิจของตนเอง"

เช่นเดียวกับฉวีวรรณกรุ๊ป ในครึ่งปีหลังที่เราจะไม่เพิ่มกำลังผลิต แต่จะเน้นการประคองตัวและรักษาฐานตลาดในต่างประเทศให้อยู่รอดได้ โดยดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาค้ำจุนธุรกิจ เพราะการค้าขายกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนยังสามารถคุยกันได้แม้เศรษฐกิจในประเทศเขาก็ยังลำบาก

แต่แบงก์ไทยกลับกลัวเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ทั้งที่ยังมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือแม้แต่การพักชำระหนี้ก็ยังช่วยผู้ประกอบการไม่ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น