ศูนย์ข่าวศรีราชา - ใกล้เป็นจริง! เมืองพัทยา เคาะรูปแบบรถไฟฟ้าสำหรับพัฒนาระบบขนส่งและการเดินทางในพื้นที่เชื่อมโยงโครงการ EEC พบระบบรถรางเบา หรือโมโนเรล รวมระยะทาง 9 กม. เหมาะสมที่สุดทั้งประหยัดงบ ใช้ได้กับพื้นผิวถนนเดิม
วันนี้ (23 พ.ค.) นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 เรื่องโครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระ ทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมี นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดโครงการฯ ร่วมชี้แจง และมีหน่วยงานราชการ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม
ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองพัทยา ถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันกลับประสบปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง โดยเฉพาะบริเวณกลางเมืองซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเจริญเติบโตของเมือง และยังพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาการจราจรและขนส่งในเมืองพัทยาคือ ระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอ
ส่งผลให้มีปริมาณการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น สร้างทั้งปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง รวมทั้งมลพิษทางอากาศและทางเสียง
นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เผยว่า วันนี้เมืองพัทยา มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทางในเมืองให้ครอบคลุมทั้งที่พักอาศัยและแหล่งกิจกรรมต่างๆ ซึ่งก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เมืองพัทยา มีประชากรและจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ความต้องการด้านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพสูงจะมีมากขึ้น
“การพัฒนาเมืองพัทยาในอนาคต ภายใต้กรอบการพัฒนาการขนส่งระบบรางเพื่อกระจายความเจริญสู่ส่วนภูมิภาคซึ่งจะส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาอุตสาหกรรม จะต้องมีการลดความต้องการใช้ยาพาหนะส่วนบุคคล สู่การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟฟ้า ซึ่งเมืองพัทยา ได้ใช้งบประมาณในการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายในเขตเมืองพัทยาและเชื่อมต่อพื้นที่โดยรอบให้มีศักยภาพมากถึง 70 ล้านบาท”
เพื่อให้สอดคล้องต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันนออก (EEC) ที่จะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการท่องเที่ยวให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดย เมืองพัทยา ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการคมนาคมขนส่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในรูปแบบรถไฟฟ้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนนำเสนอโครงการเพื่อจัดหางบประมาณก่อสร้าง หรืออาจออกมาในรูปแบบของการร่วมลงทุนกับเอกชน ตามประกาศของคณะกรรมการ EEC
นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดโครงการศึกษาฯ กล่าวว่า จากนโยบายการผลักดันให้เมืองพัทยา เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก จึงต้องมีการวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาให้สอดคล้องต่อแผนของนโยบายหลักของ EEC โดยเฉพาะระบบโครงข่ายด้านขนส่งสาธารณะในเมืองที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยาขึ้น
และได้กำหนดรูปแบบรถไฟฟ้าไว้ 3 ประเภท คือ การจัดทำโครงการในรูปแบบบนพื้นถนนหรือ Tram แบบยกระดับหรือ BTS หรือ Monorail และแบบใต้ดินหรืออุโมงค์ ซึ่งจะต้องมีวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน
โดยจากผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 1 พบว่า โครงสร้างทางวิ่งระดับดินหรือ Tram เป็นรูปแบบทางวิ่งที่ก่อสร้างระดับเดียวกับถนนเดิมมีผลกระทบต่อการใช้พื้นที่ผิวการจราจร เนื่องจากถนนมีความกว้างน้อยและจุดตัดมากจะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจร
ขณะที่โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน เป็นรูปแบบทางวิ่งใต้ระดับถนนเดิมจะมีค่าก่อสร้างสูงมากและรูปแบบนี้เหมาะสำหรับถนนที่มีความกว้างเขตทางเดิมมากเช่นกัน
ส่วนระบบยกระดับซึ่งได้เลือกระบบ Monorial เป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงกว่าระดับถนนเดิมแล้วแต่การกำหนด การก่อสร้างที่มีผลกระทบน้อย เพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร และมีการนำมาประกอบเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่งบการลงทุนก็น้อยกว่าระบบอื่น ที่สำคัญเหมาะกับพื้นที่ผิวถนนเดิมของเมืองพัทยาที่มีความกว้างเขตทางไม่มากนัก
ขณะที่เส้นทางการเดินรถกำหนดไว้ 3 เส้นทางหลักคือ 1.สายสีแดง ระยะ 8.20 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอเตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนสายชายหาด-ท่าเรือบาลีฮาย
2.สายสีเขียว ระยะ 9 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอร์เตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสายสอง-แยกทัพพระยา-แหลมบาลีฮาย
และ 3.สายสีม่วง วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอร์เตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสาย 3-ถนนทัพพระยา-แหลมบาลีฮาย
และจากผลการศึกษาทางกายภาพและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พบว่า สายสีเขียว เป็นเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้ในการสัญจร และไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินมากนัก
ส่วนบริเวณถนนพัทยาสายสอง ไม่มีอาคารที่มีความสูงเกิน 4 ชั้นมาก ทำให้การยกระดับไม่จำเป็นต้องใช้ระดับความสูงซึ่งอาจส่งผลต่องบประมาณในการลงทุนทั้งสถานีจอดและทัศนียภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางนี้อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินบ้าง เช่น ริมถนนมอร์เตอร์เวย์ด้านทิศใต้เลียบรั้วตลอดแนวเพื่อไม่ให้ไปรบกวนเส้นทางหลัก
จุดที่ 2 คือบริเวณหน้าห้าง Terminal 21 และ 3.บริเวณแยกทัพพระยา โดยตลอดเส้นทางจะมีจุดจอดรวม 13 จุด
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการศึกษายังคงดำเนินการต่อไป รวมทั้งการรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนจะสรุปเสนอต่อเมืองพัทยาต่อไป
ด้านรูปแบบการลงทุนอาจะเป็นแบบ PPP หรือร่วมกับเอกชน ซึ่งจะมีการประเมินตามผลการศึกษาว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดต่อไป