xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ทุจริตตรวจตลาดสดบ่อบัวเมืองแปดริ้ว ได้กลิ่น ร.ฟ.ท.เอื้อเอกชนโขกค่าเช่า-ไม่พัฒนาพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - เป็นเรื่อง! ปธ.อนุกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริต ลงพื้นที่ตลาดสดบ่อบัว เมืองฉะเชิงเทรา หาความจริงหลังชาวบ้านร้อง ร.ฟ.ท.ปล่อยเอกชนโขกค่าเช่าแผงค้า พบกลิ่นไม่ดีทั้งเอื้อประโยชน์ ปล่อยให้มีการละเมิดข้อตกลงสัญญาเช่า ซ้ำไม่พัฒนาตลาด ทำชาวบ้านเดือดร้อน

วันนี้ (19 พ.ค.) นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ประธานอนุกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมาธิการฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ตลาดสดบ่อบัว เขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการถูกบริษัทเอกชนเรียกเก็บค่าเช่ามหาโหดอย่างนานเกือบ 30 ปี

โดยมีคณะสื่อมวลชน ตลอดจนผู้สังเกตการณ์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา นำโดย นายสัมฤทธิ์ เหลืองทรัพย์ทวี ที่ปรึกษานายกฯ เข้าร่วม

นางจินดา พุ่มเจริญ อายุ 44 ปี ชาวบ้านริมคลองท่าไข่ และนายชูศักดิ์ ยังอยู่สุข อายุ 58 ปี เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2539 ชาวบ้านที่ค้าขายในตลาดสดบ่อบัว ได้ถูกเอกชนที่ได้รับสิทธิในการบริหารตลาด เรียกเก็บค่าเช่าในราคาแพงแต่กลับไม่มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวกลับมาพัฒนาตลาดให้มีความสะอาด และมาตรฐานถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข


นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านอีกหลายรายที่พากันให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ถึงข้อสงสัยเรื่องช่วงสัญญาการเช่าที่ดินระหว่างบริษัทเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการระงับสัญญาไประหว่างปี 2544-2553 แต่ยังพบว่า บริษัทเอกชนรายดังกล่าวยังส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเรียกเก็บเงินค่าเช่าแผงจากผู้ค้า ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ และเหตุใดการรถไฟฯ จึงไม่เข้าดำเนินการจัดเก็บค่าเช่า รวมทั้งปรับปรุงตลาดให้แก่ผู้ค้าด้วยตัวเอง

“ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเอารัดเอาเปรียบจากทั้งเอกชน และ ร.ฟ.ท. เพราะเดิมชาวบ้านเช่าแผงค้าขายเพียงวันละไม่กี่บาท แต่เมื่อมีบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก็ได้อ้างตัวว่าได้รับสัมปทานมาจาก ร.ฟ.ท.และเรียกเก็บค่าเช่าในราคาที่สูงแบบขูดเลือดขูดเนื้อ ในอัตราค่าเช่าล็อกขนาด 2 เมตร ด้วยราคาค่าแรกเข้าสูงถึง 20,000 บาท”

ชาวบ้านรายเดิมยังบอกอีกว่า ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทเอกชนรายนี้ยังมีการเรียกเก็บค่าเช่าแบบรายวันอีกถึงวันละ 100 บาท ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟที่คิดเป็นจุดอีกจุดละ 20 บาทต่อหลอดไฟ 1 ดวงต่อวัน รวมทั้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแบบปลีกย่อยอีกหลายรายการ


เช่น หากร้านค้ามีการนำพัดลมเข้ามาตั้งจะถูกคิดค่าเช่าเพิ่มจุดละ 20 บาท หรือหากมีการเสียบไฟเพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือ จะคิดค่าเช่าเพิ่มอีก 20 บาทต่อวัน และหากผู้เช่าแผงค้าเจ็บป่วยจนไม่สามารถมาขายของ ได้ยังคงต้องเสียค่าเช่าแบบรายวันตามปกติ

นอกจากนั้น อัตราค่าเช่านับตั้งแต่ปี 2539 ได้ถูกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากเดิมที่เคยเก็บค่าเช่าแค่แผงละ 20-50 บาทต่อวัน ตามแต่ขนาดแผง ก็ขยับมาเป็น 40-80 บาทต่อแผงต่อวัน และล่าสุดในปี 2557 ยังได้มีการเรียกเก็บค่าเช่าแผงแบบรายวันในราคาแผงละ 100-130 บาทตามแต่ขนาดแผง





พบผิดปกติอื้อ!!

ด้าน นายวิวรรธน์ ประธานอนุกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบตามหนังสือร้องเรียนที่ได้รับจากชาวบ้าน เบื้องต้นพบว่าผู้เช่าที่ดินในการบริหารตลาดสดบ่อบัว จาก ร.ฟ.ท. ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับ ร.ฟ.ท. นับตั้งปี 2539-2544 จนถูกบอกเลิกสัญญาในวันที่ 1 พ.ย.2544 และมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว

แต่กลับพบว่า ร.ฟ.ท.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเอกชนรายดังกล่าวในชั้นศาล เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2553 และยังยินยอมให้ผู้เช่าที่ดินรายเดิมกลับมาได้รับสิทธิอีกครั้งในการทำสัญญาฉบับใหม่ โดยให้ชำระค่าเสียหายเพียงเล็กน้อย


“และหลังจากวันที่ 24 ก.พ.53-27 มี.ค.57 รวมเวลากว่า 4 ปี ร.ฟ.ท.ยังได้ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่เข้าเก็บผลประโยชน์ค่าแผงขายของในตลาดบ่อบัว โดยที่ไม่มีการนำเงินมาพัฒนาตลาดให้ดีขึ้นตามสภาพที่ได้มาเห็นในวันนี้ และยังปรากฏว่าได้มีการทำสัญญาฉบับใหม่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2557 กำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 1 เม.ย.2557-31 มี.ค.2561 เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 178 คูหา อาคารตลาด และแผงขาย 160 แผง ลานคนเดินและลานจอดรถอีก 250 คัน”

นอกจากนั้น ยังพบความผิดปกติในสัญญาเช่าอีกมากมาย เช่น การที่เอกชนก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา แต่ ร.ฟ.ท.กลับอ้างเหตุผลว่าเนื่องจากมีผู้บุกรุกในพื้นที่เช่าจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้ผู้เช่าไม่สามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่เช่าตามสัญญาดังกล่าว

ทั้งที่การกระทำของเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ และผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ ทำให้ ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหายจากเงินค่าแผงขายของที่สมควรจะต้องได้รับ เนื่องจากมีการเก็บเงินมานานถึง 24 ปี แต่กลับไม่มีการก่อสร้างปรับปรุงตลาดแต่อย่างใด

นายวิวรรธน์ ยังเผยอีกว่า หลังการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ก็จะเร่งทำการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย ตามที่ได้รับการ้องเรียนหรือไม่

และหากผลการพิจารณาประกอบพยานหลักฐานมีความชัดเจน จะนำเรื่องทั้งหมดส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมาย






กำลังโหลดความคิดเห็น