xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.ยธ.” แนะคดีครูขืน นร.ใช้ ม.237 ป.วิอาญา สืบพยานต่อหน้าศาล ป้องกันล็อบบี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “สมศักดิ์ เทพสุทิน เสนอแนวทางใช้กฎหมายอาญา ม.237 ทวิ ลดเวลาไม่ให้ครู-รุ่นพี่เจรจาเด็กหญิงขอยอมความ เชื่อตำรวจทำงานตรงไปตรงมา

วันนี้ (13 พ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณี ครู 5 คน และรุ่นพี่ 2 คน ข่มขืนนักเรียนหญิงใน จ.มุกดาหาร ว่า ขณะนี้ประชาชนเกิดความกังวลว่าเมื่อถึงตอนจบ จะเหมือนกับมวยล้มต้มคนดู โทษควรจะถูกดำเนินคดีพิพากษาออกมาสูงๆ แต่ว่าสุดท้ายแล้วเหลือนิดเดียว ตนคิดว่า เป็นปัญหาหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นจุดอ่อน เพราะกระบวนการฟ้องศาลล่าช้า ตนจึงติดว่าทำอย่างไรจะให้เร็วขึ้น อาจจะใช้แนวทางของกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 237 ทวิ ให้ศาลใช้วิธีการสืบพยานก่อนฟ้อง ทำการสืบพยานต่อหน้าศาลขั้นตอนอื่น เมื่อสืบพยานเสร็จ จำเลยต่างๆ ที่จะมาล็อบบีเจรจากับเจ้าทุกข์หรือญาติจะทำได้ยาก เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ถูกกระทำ เมื่อฝ่ายจำเลยถ้าเห็นเรื่องดังกล่าวเหล่านี้แล้วอาจจะรับสารภาพหรือยอมให้ศาลปรับ เสียค่าชดเชยต่างๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ไปแอบเจรจากัน ได้เงินเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ยอมความกัน ซึ่งมาตรา 237 ทวิ เป็นอำนาจพิเศษของอัยการที่จะขอต่อศาลได้ โดยให้ผู้เสียหายร่วมกับยุติธรรมจังหวัดไปยื่นคำร้องกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนยื่นไปที่อัยการ แล้วอัยการเห็นชอบก็ไปขอยื่นคำร้องไปถึงศาล ถ้าศาลรับเรื่องก็ใช้เวลาที่ศาลก็อาทิตย์เดียวจบเลย แต่ว่าก่อนที่ไปถึงศาลถึงขั้นตอนของตำรวจ อัยการ ไม่รู้เท่าไร แต่เร็วกว่าแบบเดิมแน่นอน

เมื่อถามว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวคนละ 3 แสนบาท ทำไมพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว ทั้งที่คดีนี้มีอัตราโทษค่อนข้างสูงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า พนักงานสอบสวนค้านอยู่ แต่ว่าศาลคงเห็นว่าจำเลยไม่ได้หนี ไปมอบตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องเป็นดุลพินิจของศาล ไม่ไปก้าวก่าย ส่วนเรื่องที่ว่าผู้ต้องหากับคนทำคดีนามสกุลคล้ายกัน จึงทำให้ประกันตัวง่ายขึ้น ในทางกฎหมายของตำรวจ ตนคิดว่าเขาคงไม่ปล่อยให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้แน่นอน

เมื่อถามว่า ทางกระทรวงยุติธรรมได้เน้นย้ำให้ยุติธรรมจังหวัดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะให้ความเป็นธรรมกับตัวเด็กผู้เสียหาย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยุติธรรมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการดูเรื่องค่าเสียหายชดเชย และทางกระทรวงยุติธรรมได้ประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเยียวยาสภาพจิตใจตัวเด็กและครอบครัวด้วย มีทั้งมูลนิธิและเจ้าหน้าที่คุ้มครองพยาน ทุกคนเข้าไปทำหน้าที่อย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น