หลายสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีการประชุมและออกหนังสือซ้อมความเข้าใจ ถึงส่วนราชการทั่วประเทศ ว่าด้วยการบริหารสัญญากรณี “การจ้างเหมาบริการเพื่อศึกษาดูงาน อบรมหลักสูตร ประชุม จัดงาน ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19
หลังจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค.63“คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ”กรมบัญชีกลาง ได้ออกแนวทางบริหารสัญญา“เลิกจ้าง”จัด “ดูงาน-อบรม-ประชุม”ในประเทศ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ส่งผลต่อภาคเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐน้อยที่สุด ตลอดจนให้หน่วยงานของรัฐมีแนวทางการพิจารณาในการบริหารสัญญากรณีที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
ครั้งนั้น มีการออกข้อซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
1) กรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการศึกษาดูงาน ซึ่งกำหนดเนื้องานเฉพาะเรื่องการศึกษาดูงานเท่านั้น และไม่มีความประสงค์จะจัดให้มีการเดินทางไปศึกษา ดูงาน ฝึกอบรม หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้หน่วยงานดำเนินการเจรจาตกลงยกเลิกกับคู่สัญญา เพื่อที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงตามนัยมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการ บริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คือ การตกลงกับคู่สัญญาที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐโดยตรงหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของหน่วยงานรัฐในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้นต่อไป
2) กรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการโดยกำหนดเนื้องานหลายกิจกรรม ซึ่งการศึกษาดูงานเป็นกิจกรรมหนึ่งในการจ้างเหมาบริการตามสัญญา และหน่วยงานมีความประสงค์จะเลื่อนหรือยกเลิกกิจกรรมหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการแก้ไขสัญญาตามนัยมาตรา 97 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คือ เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั้งราชอาณาจักร และหลายพื้นที่มีการประกาศ “งดการออกนอกเคหสถานและการเดินทางเข้า – ออกในพื้นที่” ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถ ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ล่าสุด“คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ”กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ประชุมพิจารณา เป็นเรื่องด่วน! โดยได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 171 ลงวันที่ 24 เม.ย. 63 โดยมีการออกแนวทางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ มีการปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซ้อมความเข้าใจการดำเนิน การ ของหน่วยงานของรัฐกรณีต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดชองโรคโควิด-19 และยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
กรณีที่โรคโควิด-19 เกิดขึ้น "ก่อนที่หน่วยงานของรัฐ" จะลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงกับผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือเมื่อหน่วยงานของรัฐ ได้มีหนังสือแจ้งให้ "ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก" มาลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงกับหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่หน่วยงานของรัฐกำหนด และ "ผู้ชนะการจัดชื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก" ได้แจ้งเป็นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐว่า ไม่สามารถจะลงนามในสัญญา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
กรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า ต้องลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้หน่วยงานชองรัฐมีหนังสือเรียก ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก ที่เสนอราคาตํ่าสุดหรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดมาทำสัญญาหรือข้อตกลง
หากเรียกแล้วไม่ยอมเข้าทำสัญญาหรือข้อตกลง ให้หน่วยงานของรัฐเรียกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกที่เสนอราคาต่ำรายต่อไปหรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงรายถัดไปตามลำดับ แล้วแต่กรณี มาลงนามในสัญญาหรือข้อตกลง
กรณีที่ "ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก" ที่เสนอราคาตํ่าสุด หรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดมาทำสัญญาหรือข้อตกลง หากเรียกแล้วไม่ยอมเข้าทำสัญญาหรือข้อตกลง ให้ถือว่าผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกมีเหตุอันสมควร "ไม่เข้าลักษณะการเป็นผู้ทิ้งงาน" ตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติฯ
ทั้งนี้ให้รวมถึง ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก ที่เสนอราคาตํ่ารายถัดไป หรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงรายถัดไปด้วย ดังนั้น กรณีนี้หน่วยงานของรัฐจึงไม่ต้องดำเนินการพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบฯ ข้อ 193
และให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ "คืนหลักประกันการเสนอราคาให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย"
ส่วน "กรณีที่โรคโควิด-19 "เกิดภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาหรือข้อตกลง กับคู่สัญญาแล้ว" ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา เริ่มจาก "การบริหารสัญญา" เมื่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 102 วรรคหนึ่ง (2)
"โดยเหตุสุดวิสัยให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ที่บัญญัติ ว่า “เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้ จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”
ส่วน การพิจารณาการงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายระยะเวลา ทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้ดำเนินการดังนี้
(1) กรณีที่สัญญายังไม่ครบกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐ นำจำนวนวัน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง
(2) กรณีที่สัญญาครบกำหนดและมีค่าปรับเกิดขึ้นแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐ นำจำนวนวันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ “จำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง”ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา จากกฎหมาย ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการที่ให้หน่วยงานของรัฐปิดทำการ หรือสั่งห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง หรือสั่งปิดสถานที่ หรือสั่งห้ามกระทำการหรือสั่งการใด ๆ จนถึงวันที่เปิดทำการ หรือวันที่กระทำการ หรือดำเนินการได้ตามปกติ
ส่วนการตรวจรับพัสดุของหน่วยงานของรัฐ หากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่สามารถ ดำเนินการตรวจรับพัสดุตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ หรือในกรณีงานจ้างก่อสร้าง ที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ไม่สามารถออกไปตรวจงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือข้อตกลงให้ทำงานจ้างนั้น ๆ ตามกำหนดเวลาได้ ให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือกรรมการ ในคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ แล้วแต่กรณี โดยอาจแต่งตั้งบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เน้นคณะกรรมการหรือ กรรมการตรวจรับพัสดุแทน
ให้เลื่อนระยะเวลาการตรวจรับพัสดุออกไปก่อนจนกว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะสามารถดำเนินการตรวจรับพัสดุนั้น ๆ ได้
หนังสือเวียนเรื่อง "การจัดซื้อจัดจ้าง" ถูกส่งถึงหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถูกคำสั่ง ให้ "ยกเลิก" จ้างเหมาบริการเพื่อศึกษาดูงาน อบรมหลักสูตร ประชุม จัดงาน ทั้งในและต่างประเทศ ให้ปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับพ.ร.บ.การจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
แนวทางของ "กรมบัญชีกลาง" ข้างต้น เป็นแผนรองรับ หลังจากตัดงบปี 2563 "รายการศึกษาดูงาน อบรมหลักสูตร ประชุม จัดงาน ทั้งในและต่างประเทศ" เพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .. จำนวน 100,395 ล้านบาท โดยมีการตัดงบดูงาน ประชุม จัดอีเว้นต์
นอกจากนี้ ทุกส่วนราชการ ยังจะต้องไปปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพื่อนำมาไว้เป็นงบกลาง เช่นกัน ด้วยการ ปรับลดงบในส่วนที่มีการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบ 2564 หรือในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.63 มาไว้เป็นงบกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้งบส่วนนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท
เบื้องต้นสำนักงบประมาณตั้งกรอบวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 99,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับงบกลาง 40,000 ล้านบาท จะทำให้งบกลางทั้ง 2 รายการ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการจัดสรรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และครม. รวม 139,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 แบ่งเป็น 3 รายการ
หนึ่งในนั้น คือ ปรับปรุงรายจ่ายประจำที่ไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา, การฝึกอบรม, การประชาสัมพันธ์, การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าเช่าที่พัก, ค่าพาหนะ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการจ้างออแกไนซ์เซอร์ หรือดำเนินการเอง ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณปรับลดงบลง 25%
ขณะที่ ในส่วนขององค์กรอิสระ และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง จำนวน 12 หน่วยงาน เสนอวงเงินที่ถูกปรับลดในงบประมาณปี 2564 แล้ว 1,043.74 ล้านบาท.